ตลาดริมคลองพ่อพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร
ตลาดริมคลองพ่อพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ในตำบล พันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ติดกับศาลพันท้ายนรสิงห์ พื้นที่ของตลาดตั้งอยู่ริมคลองและมีต้นโกงกางของป่าชายเลน ปกคลุมบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นเมืองริมฝั่งทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน ตลาดตกแต่งบรรยากาศสไตล์พื้นบ้านเป็นด้วยกระท่อมไม้ไผ่มุงจาก เพื่อให้คงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนพื้นบ้าน มีร้านค้ากว่า 200 ร้าน จำหน่ายอาหาร ขนมไทย อาหารพื้นเมือง ของใช้ และผลิตภัณฑ์ OTOP จากจังหวัดสมุทรสาคร หากแวะมาสักการะองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์แล้ว ต้องไม่พลาดที่จะแวะมาชม ชิม ช็อปกับบรรยากาศชิว ริมคลอง
ตลาดริมคลองพ่อพันท้ายนรสิงห์ แบ่งเป็น 2 โซน โซนแรกตั้งอยู่บริเวณทางเข้า จัดเป็นซุ้มขายอาหารมีทั้งคาวหวาน ของดี ของฝาก ของเมืองสมุทรสาครที่น่าซื้อหากลับไปเป็นที่ระลึก
โซนที่สอง เป็นตลาดริมคลองแบบตลาดน้ำ ตกแต่งสไตล์พื้นบ้านแบบกระท่อมไม้ไผ่มุงจาก มีร้านขายอาหารที่สามารถสั่งมานั่งทานได้ เป็นตลาดน้ำที่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่ของป่าโกงกาง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาคร
ร้านขายอาหารส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในเรือ มีอาหารให้เลือกหลากหลาย ทั้ง ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ผัดไทย ก๋วยจั๋บ ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น ราคาอาหารก็ถูกมาก ชามละ 20-30 บาท น้ำแก้วละ 10-20 บาท เท่านั้น
พื้นที่นั่งทานอาหารก็เป็นแคร่ไม้ไผ่บ้านๆ ริมน้ำ ให้ความรู้สึกชิวในการนั่งรับประทานอาหารมาก
ที่นั่งริมน้ำ มองไปตรงพื้นน้ำใสมาเห็นปลาแหวกว่าย คือ ชาวบ้านเค้าดูแลพื้นที่กันได้ดีมากๆ
โซนที่นั่งริมป่าโกงกางเก๋ๆ
ซุ้มขายสินค้าโอทอปของสมุทรสาคร ทั้งสบู่ ยาสระผม เกลือขัดผิว และชาต่างๆ
ร้านขายพันธุ์เห็ดก็มี
บริการนวดผ่อนคลาย
ให้อาหารปลา
หลังจากอิ่มอร่อยจากตลาดริมคลอง ก็เดินข้ามไปยังศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าตลาด ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวสมุทรสาครให้ความเคารพนับถือ ศาลพันท้ายนรสิงห์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความซื่อสัตย์แก่พันท้ายนรสิงห์ผู้ซึ่งเป็นนายท้ายเรือที่จงรักภักดีผู้ที่ยอมรับโทษประหารชีวิตเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนราชประเพณีตามกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา
พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต ในคราวที่คัดท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยจนหัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองโคกขาม ทำให้โขนเรือหักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลพระเจ้าเสือและทรงพระราชทานอภัยโทษให้เพราะถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่พันท้ายนรสิงห์ก็ยังไม่ยอม ให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาลเพื่อรักษาเกียรติของพระเจ้าเสือ
ศาลนี้จึงเป็นที่พึ่งทางใจของคนอีกแห่งหนึ่ง ที่นิยมกันมาขอพร ให้ตนประสบผลสำเร็จ เมื่อขอไปแล้วสัมฤทธิ์ผล ช่วงแรกคนจึงนำนวมชกมวยและไม้พายเรือ มาแก้บน เนื่องจากตามประวัติท่านชอบชกมวยและตีไก่ ต่อมาช่วงหลังจึงมีคนนำรูปปั้นไก่แก้วมาแก้บน ซึ่งตั้งคู่อยู่ตรงทางขึ้นก่อนเข้าประตูศาล เมื่อคนเห็นว่าบนแล้วประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่นิยมบนกันในเวลาต่อมา
บริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์ยังมีซากเรือโบราณ สร้างจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่เพียงต้นเดียว มีความยาว 19.47 เมตร กว้าง 2.09 เมตร สูง 1เมตร คาดว่ามีอายุถึงราว 300 ปี ชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่า เรือลำนี้อาจเป็นเรือในขบวนเสด็จ หรืออาจเป็นเรือลำเลียงทหารในอดีต
ด้านหลังของศาลพันท้ายนรสิงห์คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนพันท้ายนรสิงห์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเล และเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลน โดยจัดทำเป็นทางเดินสะพานปูนเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติบรรยากาศร่มรื่น โดยในเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะเป็นสะพานปูนที่ทอดยาว มีต้นโกงกางขี้นอยู่โดยรอบตลอดแนวชายคลอง โดยต้นโกงกางส่วนมากจะเป็นต้นโกงกางใบใหญ่ สามารถพบเห็นปลาตีนและปูเปรี้ยว ปลาหมอ ปลานิล
บรรยากาศร่มรื่น เขียวขจีด้วยต้นไม้
จุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนพันท้ายนรสิงห์นั้นอยู่ที่สะพานแขวน ซึ่งเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้
ก่อนกลับแวะไปทำบุญที่ วัดพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นวัดที่มีอายุไม่นาน มีพระเจดีย์จุฬามณีเช่นเดียวกับที่วัดท่าซุง
ถือว่าได้ว่ามาเที่ยวจุดเดียวได้แวะหลายจุด ทั้งตลาดริมคลองพ่อพันท้ายนรสิงห์ หาของกินอร่อยทานในบรรยากาศตลาดน้ำแบบพื้นบ้าน ต่อด้วยกราบไหว้ขอพรศาลพันท้าย เดินเล่นป่าชายเลน ทำบุญที่วัดพันท้ายเพื่อความเป็นศิริมงคลกับชีวิต
รายละเอียดเพิ่มเติม
ที่ตั้ง : ม.3 ตำบล พันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร สมุทรสาคร 74000
โทรศัพท์ : 034-871-578
วันเวลาเปิดทำการ : ทุกวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00น. – 17.00 น.
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯมายัง ศาลพันท้ายนรสิงห์ จะใช้เส้นทางถนนพระราม 2 มุ่งหน้าสู่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อถึงทางยกระดับให้ข้ามถนนกาญจนาภิเษก หรือวงแหวนอุตสาหกรรม ไปอีก 7 กิโลเมตรจะมีทางแยกซ้ายมือ ที่หน้าปากซอยจะมีวัดที่ชื่อเหมือนๆกันว่าวัดพันท้ายนรสิงห์ แต่จุดนี้ยังไม่ใช่ ศาลพันท้ายนรสิงห์ นั้นจะต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนทางแยกซ้ายมืออีกประมาณ 9 กิโลเมตร ถ้ามาจากทางจังหวัดสมุทรสาครนั้น สามารถใช้ได้ทั้งเส้นทางถนนพระราม 2 และอีกเส้นทางคือใช้เส้นทางจากถนนเอกชัย เข้าถนนสายสหกรณ์ ตลาดริมคลองพ่อพันท้าย จะตั้งอยู่ก่อนถึงศาลพันท้ายนรสิงห์