เกาะพระทอง พังงา ดินแดนซาฟารีแห่งทะเลใต้
เกาะพระทอง ตั้งอยู่ที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในพังงาและใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเมืองไทย เกาะพระทองเกิดจากซากปะการังทับถมกันมายาวนานนับล้านปี จนเกิดเป็นเกาะที่มีสภาพภูมิประเทศที่แปลกตา คือมีลักษณะค่อนข้างแบนราบ กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่นของเกาะแห่งนี้ ด้านตะวันออกสมบูรณ์ด้วยแนวป่าโกงกาง ด้านตะวันตกเป็นหาดทราย ส่วนบริเวณกลางเกาะเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ซึ่งมีต้นเสม็ดขาวขึ้นกระจายอย่างดงาม พื้นดินบนเกาะพระทองส่วนใหญ่จะเป็นดินปนทรายไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก อันเนื่องมาจากสภาพธรรมชาติและเคยผ่านการทำเหมืองแร่มาก่อน ทำให้ที่นี่มีพืชเศรษฐกิจหลักเพียงมะม่วงหิมพานต์กับมะพร้าว แต่เกาะพระทองกลับเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก บนเกาะมีทั้งชายหาด ป่าชายหาด ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าเสม็ด ทุ่งหญ้า ไม้พุ่ม พืชสังคมทดแทน กล้วยไม้หายาก
แม้จะเป็นเกาะขนาดใหญ่ แต่บนเกาะพระทองมีแค่ 3 หมู่บ้าน คือบ้านปากจก บ้านทุ่งดาบ และบ้านแป๊ะโย้ย ภาพของทุ่งหญ้าสีทองกว้างไกลที่ปกคลุมพื้นที่ด้านในของเกาะเป็นดงกว้างไกลสุดสายตา โดยมีต้นเสม็ดขาวกระจายอยู่เป็นหย่อม บรรยากาศคล้ายทุ่งหญ้าซาฟารีในแอฟริกา ยามเช้าหรือเย็นที่แสงทองส่องกระทบลงมาบนต้นหญ้าสวยงามอร่ามตา ทำให้เกาะพระทองได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในโครงการ Unseen Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เกาะพระทองก็โด่งดังขึ้นในทันที ด้วยสมญานาม “สะวันนาเมืองไทย” ทำให้นักท่องเที่ยวมากมายเดินทางมาเยือนเกาะพระทอง แต่จากหลังเหตุการณ์สึนามิประชากรบนเกาะหายไปกว่าครึ่ง จึงทำให้เกาะพระทองในปัจจุบันมีสภาพเงียบเหงาไม่น้อย เกาะพระทอง เป็นเกาะที่เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้วิถีชุมชน เพราะมีความสงบ เป็นหนึ่งในเกาะที่เลือกทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทั้งแค้มปิ้ง ปั่นจักรยาน ชมทุ่งหญ้าสะวันนา การสัญจรบนเกาะ ต้องใช้รถอีแต๊ก รถขับเคลื่อน 4 ล้อ รถจักรยานยนตร์พ่วงข้าง เพราะถนนหนทางค่อนข้างแคบ บางช่วงเป็นดินทรายร่วนซุย
ทริปนี้ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หลังจากเที่ยวเตร็ดเตร่อยู่ในเมืองพังงาในช่วงเช้า มาถึงท่าเรือคุระบุรี ซึ่งเป็นจุดขึ้นเรือไปยังเกาะพระทองในช่วงบ่าย ท่าเรือคุระบุรี ตั้งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ผ่านอุทยานไปจนสุดทาง สำหรับการเดินทางจากท่าเรือไปยังเกาะพระทอง ต้องนั่งเรือหางยาวไปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งต้องเหมาเรือไป ส่วนใหญ่คิดราคาเหมาคือเที่ยวละ 1500 บาท ไปกลับ 3000 บาท เรือนั่งได้ 10 คน สำหรับการติดต่อเรือสามารถแจ้งทางรีสอร์ทที่เข้าพักให้จัดหาเรือให้จะสะดวกที่สุด
นั่งเรือในบรรยากาศเนิบๆ ไม่ทันไรก็มาถึงท่าเรือ ซึ่งเราขึ้นเรือทางด้านหลัง เพราะพี่คนขับเรือแจ้งกว่าทางฝั่งหน้าที่พักคลื่นค่อนข้างแรง เรือเข้ายาก โดยทางรีสอร์ทจัดรถกระบะมารับพวกเราที่ท่าเรือ จากนั้นก็นั่งรถเดินทางไปต่อยังที่พัก โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เรียกได้ว่านั่งเรือต่อรถใช้เวลากันพอสมควร ถนนหนทางจะได้เห็นตลอดที่นั่งรถสัญจรบนเกาะคือถนนคอนกรีตแคบๆสลับกับทางดินทราย ระหว่างทางคือป่าและต้นหญ้า ไม่มีแม้แต่บ้านเรือนผู้คน บรรยากาศเงียบมาก เงียบจนแปลกใจว่าเกาะนี้ชาวบ้านไปอาศัยอยู่ที่ไหนกันหมด ได้รับคำตอบจากพี่เจ้าของที่พักว่า หมู่บ้านจะอยู่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งจะพาไปในวันพรุ่งนี้จะต้องไปขึ้นเรือกลับ เกาะพระทองทางฝั่งนี้จะเห็นแต่หมู่บ้านไลอ้อน ที่สร้างขึ้นให้ชาวบ้านบนเกาะอาศัยหลังจากบ้านเรือนเสียหายจากคลื่นสึนามิ แต่อาศัยกันอยู่ได้ไม่นานก็ย้ายถิ่นฐานกันไป จึงกลายเป็นหมู่บ้านร้างไปโดยปริยายมองตัวบ้านแล้วก็เสียดายแทน เพราะสร้างได้น่าพักมาก
ที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง
บนเกาะมีที่พักประมาณ 5-6 แห่ง ส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่ 1000-3000 บาท บนเกาะพระทองมีพื้นที่ซึ่งเป็นอ่าวหรือชายหาดประมาณ 4 หาด แต่ชายหาดที่มีที่พักตั้งอยู่หลายแห่ง คือ หาดสุดขอบฟ้ามีที่พักประมาณ 4 แห่ง และหาดตาแดง ซึ่งอยู่ติดกัน มีที่พัก 1 แห่ง ที่พักส่วนใหญ่แบบกระท่อมเรียบง่าย หากต้องการมาพักแบบหรู ห้องแอร์ ขอให้ม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย เพราะที่พักจะสร้างในรูปแบบนี้และเป็นห้องพัดลมทั้งหมด ต่อให้เป็นที่พักที่ดีที่สุดและแพงที่สุดบนเกาะก็เป็นห้องพัดลม หากมาถึงเกาะพระทองเราจะไม่ได้เห็นภาพนักท่องเที่ยวคึกคัก ถ้ามีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติแทบจะ ไม่เห็นคนไทยแม้แต่น้อย คือ คนที่มาเที่ยวเกาะนี้ ต้องมีความชื่นชอบธรรมชาติแบบจริงๆ สามารถอยู่กับสิ่งที่ไม่สะดวกสบายได้ เพราะบรรยากาศบนเกาะเป็นอะไรที่เรียกว่ายังดิบและดั้งเดิมมาก แทบไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ แม้แต่ไฟฟ้าในรีสอร์ทส่วนใหญ่จะปั่นไฟให้ใช้ในช่วงเย็นตั้งแต่เวลาประมาณ 6 โมงเย็น ถึงช่วงเช้า สำหรับร้านค้าร้านอาหารต่างๆ ไม่มีให้บริการตามรายทางเหมือนเกาะอื่น หากต้องการกิน ดื่มอะไรเป็นพิเศษ ต้องซื้อมาจากฝั่งคุระบุรี ในส่วนของอาหารหลักในแต่ละมื้อต้องทานที่รีสอร์ทที่เข้าพักเท่านั้นหรือหากอยากไปทานยังที่พักอื่นใกล้เคียงก็สามารถเดินไปได้ การเดินทางภายในเกาะไม่มีรถโดยสารหากต้องการเดินทางไปยังจุดใดต้องใช้บริการรถของทางรีสอร์ทเช่นกัน
รักษ์กัน รีสอร์ท ที่พักเกาะพระทอง
รักษ์กัน รีสอร์ท ตั้งอยู่ที่หาดสุดขอบฟ้า เป็นที่พักที่สร้างแบบกระท่อมริมชายหาดเรียบง่าย เหตุผลที่เลือกพักเพราะหลังจากเช็คราคาและบรรยากาศ ที่นี่น่าจะราคาสบายกระเป๋าที่สุด คือ คืนละ 1000 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า) จัดและตกแต่งได้สะอาดและน่าพักพอสมควร บ้านพักมีหลายหลังหลายแบบ ภายในห้องมีทั้งแบบเตียงคู่ และที่นอนปูกับพื้น สามารถ เลือกพักได้ตามชอบ ห้องน้ำกว้างขวางเป็นแบบโอเพ่น แอร์ ไฟฟ้ามีให้ใช้ตั้งแต่ 6 โมงเย็น – เช้า แต่พี่เจ้าของใจดี ปั่นไฟให้ใช้ตั้งแต่ช่วงบ่าย พูดถึงเรื่องบริการ ได้รับความดูแลที่ดีมาก เรียกได้ว่า บริการแบบบ้านๆ แต่ประทับใจสุดๆ ทั้งพาเที่ยว คอยรับส่ง จัดอาหารให้ทาน และพูดคุยให้ข้อมูลอย่างเป็นกันเอง
เก็บของพักผ่อนกันซักครู่ก็มาเดินเล่นยังชายหาดด้านหน้าที่พัก มีร้านอาหารตั้งอยู่มื้อเย็นของเราจะทานอาหารกันที่นี่ เดินไปก็เป็นพื้นที่ในส่วนของหน้าชายหาด ซึ่งมีจุดให้นั่งเล่นพักผ่อนหลายมุม
พื้นที่หน้าชายหาด ซึ่งวันที่เราเดินทางมีมรสุมนิดหน่อย สภาพอากาศไม่ค่อยโปร่ง ทำให้ชายหาดอาจดูไม่สะอาดและรกไปด้วยเศษกิ่งไม้บ้าง ซึ่งถ้ามาในช่วงเวลาแดดออกอากาศดีๆ น่าจะสวยกว่านี้มาก แต่ถึงอย่างไรหากใครหวังว่าจะได้เจอหาดทรายขาว น้ำทะเลใสแจ๋วที่เกาะพระทองนั่น คงผิดหวัง เพราะจุดขายของเกาะไม่ใช่สิ่งนี้ แต่ถ้าอยากได้ความเงียบสงบและธรรมชาติที่ดูแปลกตาที่เรากำลังจะได้พบในไม่ช้านี้ เกาะนี้ คือ คำตอบ
ที่พักที่อยู่ติดกับรักษ์กัน รีสอร์ท บรรยากาศดีพอสมควร มีทั้งแบบเต้นท์ เอาใจคนชอบแนวแค้มปิ้ง และถัดไปก็มีที่พักแบบบ้านให้พักด้วย
อาหารมื้อเย็น สั่งตามเมนูเท่าที่มี ทั้ง หมึกผัดน้ำดำ ปลาทอด ผัดเปรี้ยวหวานกุ้ง แกงส้ม หมึกผัดน้ำดำ ส่วนอาหารทะเลหากใครอยากทานอะไรเป็นพิเศษ เช่น ปู กุ้ง หอย ให้สั่งล่วงหน้าก่อนเดินทาง เพราะทางรีสอร์ทต้องเตรียมหาไว้ อาหารทะเลขึ้นชื่อต้องไม่พลาด คือ หอยชักตีน ราคาถูกกว่าบนฝั่ง กิโลประมาณ 120 บาท เราสั่งมาทานกันให้หายอยาก 10 คน 5 กิโล ทานจนเบื่อไปเลย อีกเมนูที่ชื่นชอบมาก ไม่เคยทานที่ไหนมาก่อน คือ หมึกน้ำดำ ที่เอาปลาหมึกมาผัดกับน้ำหมึกจนเนื้อกลายเป็นสีดำ เพิ่งรู้ว่าน้ำหมึกก็ทานได้ด้วยปกติเราจะมองว่ามันคือ สิ่งที่ไม่ควรทาน เมื่อนำมาผัดคลุกเคล้ากับเนื้อปลากหมึกที่สดๆ จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บๆ อร่อยมาก ช่วงค่ำมียุงค่อนข้างเยอะ ควรเตรียมโลชั่นกันยุงไปด้วย
เช้าวันใหม่นั่งรถเที่ยวทะเลแหวก หาดตาแดง
7 โมงเช้า คือ เวลาที่ทางรีสอร์ทนัดไว้จะพาไปดูทะเลแหวก ซึ่งจริงๆ แล้วจะไปแต่เมื่อวานเย็นแต่ฝนตกหนักมาก เลยเปลี่ยนมาเป็นช่วงเช้าแทน หาดตาแดงตั้งอยู่ติดกับหาดสุดขอบฟ้า ถามว่าถ้าเดินจากที่พักเลียบชายหาดไปได้มั้ยก็คงจะได้แต่คงใช้เวลานานพอสมควรอย่างต่ำครึ่งชั่วโมงขึ้นแน่นอน แต่ถ้านั่งรถลัดไปทางถนนนั้นใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที หาดตาแดงมีที่พัก 1 แห่ง ถ้าจำไม่ผิด น่าจะชื่อ โอเอซิส มีพื้นที่ชายหาดกว้าง ในยามเช้าเห็นเป็นริ้วทรายที่สวยมาก
ครั้งแรกในชีวิตที่ได้นั่งท้ายรถกระบะวิ่งผ่านหาดทรายที่กว้างเช่นนี้ สายลมเย็นพัดเข้ามากระทบหน้า จากอารมณ์กร่อยๆเมื่อวานเพราะเจอฝน กลายเป็นรู้สึกดีขึ้นในทันที ระหว่างที่รถวิ่งเลียบหาดไปเรื่อยๆ เหมือนอยู่ในหนัง เฮ้ยคือ มันชิว มันเท่ กรีดร้องด้วยความสุขและสนุกมาก
หาดที่เรียกว่า ทะเลแหวก ซึ่งในยามที่น้ำลด จะปรากฏเป็นสันทรายและริ้วชายหาดที่สวยงาม บรรยากาศกว้างไกลคล้ายกับเราเดินอยู่ท่ามกลางทะเลทราย
บางจุดมีน้ำทะเลท่วมขัง กลายเป็นหลุมน้ำขนาดย่อมแทรกซึมอยู่บนพื้นทราย เดินไปอีกก็จะเจอทรายสีส้มอิฐลักษณะคล้ายกับหินแต่มันคือ ทราย เป็นภาพอะเมซิ่งของชายหาดที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะได้เห็นบนเกาะแห่งนี้ เพราะความตั้งใจเพียงอย่างเดียว คือ มาชมทุ่งหญ้าซาฟารี เพียงเท่านั้น หาดทรายสวย คือ ของแถมจากเกาะพระทอง ที่ยินดีรับด้วยความสุข อันที่จริงแล้วริ้วทรายชายหาดแบบนี้เคยเห็นจากเกาะอื่นบ่อย แต่รู้สึกว่าไม่สวยและแปลกตาเท่า เกาะพระทอง เช้าวันนี้เริ่มมีอะไรที่สนุกๆ ให้รื่นหัวใจแล้วสิ
ชมทุ่งหญ้าสะวันนา กลางเกาะ
หลังจากชมทะเลแหวกแล้ว เรามาเปลี่ยนเป็นรถอีแต๊ก พาหนะยอดฮิตบนเกาะ เพื่อไปยังจุดหมายหลัก ทุ่งหญ้าสะวันนา หรือ ทุ่งซาฟารี โดยมีค่าใช้จ่ายในการเช่ารถเพิ่ม คันละ 1000 บาท นั่งได้ไม่เกิน 10 คน ซึ่งตอนแรกทางพี่เจ้าของรีสอร์ทให้เลือกว่าจะใช้รถกระบะหรือรถอีแต๊ก เพราะถ้ารถกระบะของรีสอร์ท ก็ให้บริการคิดราคาเท่ากัน แต่เราอยากได้บรรยากาศแบบท้องถิ่น เลยเลือกนั่งรถอีแต๊ก ซึ่งทางพี่เค้าก็ติดต่อรถให้เรียบร้อย ขับเนิบ ๆ เรื่อยๆ มาจนถึงทุ่งหญ้าซาฟารี
ทุ่งหญ้าซาฟารี เริ่มแห้งไปเยอะ และเรามาในช่วงต้นเดือนเมษายน ต้นหญ้าเริ่มล้มเพราะฝนมาแล้ว ถ้าอยากเห็นในช่วงที่สวยที่สุดต้องมาเที่ยวต้น-กลางเดือนมีนาคม จะงามพริ้วปริวไสวกว่านี้มาก แนะนำควรมาในเวลาเช้าช่วงที่มีแสงแดดอ่อนๆ หรือจะมาในยามเย็นก็ได้ ความรู้สึกแรกที่ได้เห็นแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน บางคนก็ร้องอุทานว่า นี่นะเหรอ ทุ่งหญ้าสะวันนาสีทอง ไม่เห็นสวย ไม่เห็นมีอะไรเลยแถวบ้านก็มี คือ ถ้าจะมองว่าเป็นเพียงแค่ทุ่งหญ้าธรรมดาตามพื้นที่ชนบท มันก็เป็นแค่หญ้าธรรมดา ตามสายตาคนมอง แต่ถ้ามองให้มันสวยงามและเป็นศิลปะ มันก็คือ ทุ่งหญ้าที่อะเมซิ่งไม่น้อย บรรยากาศคล้ายทุ่งซาฟารีในแอฟริกา ขาดแต่เพียงไม่มีสัตว์น้อยใหญ่เดินไปมาเท่านั้นเอง
ใครจะมองอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับเราชื่นชอบมาก ยิ่งมีคนเข้ามาประกอบฉากด้วยแล้วถูกใจใช่เลย
ยิ่งมาเจอต้นไม้ที่ขึ้นอยู่กลางทุ่ง รูปร่างแปลกตา กิ่งก้านสาขาแผ่กระจาย เกิดไอเดียขึ้นมาทันที เรียนเชิญสมาชิกร่วมทริปไปนั่งเพื่อถ่ายภาพเป็นเกียรติซักหน่อย
เราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงที่ทุ่งหญ้าสะวันนา จากนั้นประมาณ 9 โมงเช้า รถอีแต๊ก มาส่งยังที่พัก รับประทานอาหารเช้า เก็บสัมภาระ เพื่อเดินทางกลับขึ้นฝั่ง โดยทางรีสอร์ทก็นำรถไปส่งเช่นเคย ก่อนกลับพี่เจ้าของพาเราไปแวะชมป่าพรุเสม็ด ซึ่งจริงๆแล้วเป็นโปรแกรมที่รถอีแต๊กต้องพาเราไปชมพร้อมกับทุ่งหญ้าสะวันนาด้วย แต่พอพี่เค้าทราบว่าไม่ได้แวะไปป่าเสม็ด เลยอาสาพาพวกเราไปแทนก่อนส่งขึ้นท่าเรือ เส้นทางไปป่าพรุเสม็ดเป็นเส้นทางเดียวกับทุ่งหญ้าสะวันนานั่นเองแต่จะอยู่ไกลออกไปอีก
มาถึงแล้วป่าพรุเสม็ดกลางเกาะ กลางทุ่งหญ้ากว้าง เป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก จนกลายเป็นธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาที่ไม่สามารถหาชมได้จากเกาะอื่น เพราะปกติไปเที่ยวทะเล เราก็จะได้เห็นแต่น้ำทะเล และหาดทราย แทบไม่มีเกาะไหนที่จะมีภาพนี้ให้ได้เห็น นอกจาก เกาะพระทองเท่านั้น ภาพนี้ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม เธอคนนั้นผู้จุดประกายให้เราได้รู้จักชื่อ เกาะพระทอง จึงอยากมาให้ได้ซักครั้งหนึ่งในชีวิต
พอร์ตเทรตเก๋ๆ ได้ทั้งสายเท่ และสายหวาน
นั่งรถไปต่อ แสงแดดในยามใกล้เที่ยงกำลังสาดส่องลงมา อากาศเริ่มร้อนขึ้น แต่ความสวยงามของต้นเสม็ดขาวที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีเสียงนกร้องมาเป็นระยะ บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้
ปลายสุดของป่าเสม็ดมีหนองน้ำด้วย ยังกับป่าอเมซอน มันมีความแปลกและความเงียบสงัด ได้ยินแค่เพียงเสียงของธรรมชาติเท่านั้น
เรานั่งรถจนถึงแหล่งชุมชน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ซึ่งฝั่งนี้บรรยากาศจะคึกคักหน่อย เป็นที่ตั้งของอบต เกาะพระทองด้วย ตรงจุดนี้เรียกว่า บ้านแป๊ะโย้ย ซึ่งเป็นท่าเรือหลัก เรือมาจอดรถพวกเราเพื่อไปส่งกลับยังฝั่ง
ถ้าชอบทะเลสวย น้ำใส หาดทรายขาว ความสะดวกสบายที่นี่ไม่มีให้คุณ แต่ถ้าอยากเห็นความสวยงามแปลกตาของหาดทราย และธรรมชาติแบบดิบๆไม่เหมือนใคร จนหลายคนขนานนามว่า ดินแดนซาฟารีแห่งทะเลใต้ ให้คุณมาที่นี่ เกาะพระทอง พังงา
รายละเอียดเพิ่มเติม
รักษ์กัน รีสอร์ท โทร 091 821 2689 ค่าที่พักคืนละ 1000 บาท (พักได้ 2 ท่าน) พร้อมรถบริการรับส่งยังท่าเรือและพาเที่ยวทะเลแหวก หากต้องการท่องเที่ยวทุ่งซาฟารี เสียค่าบริการรถเพิ่ม 1000 บาท
ที่พักเกาะพระทอง
The Moken Eco Village โทร 081 895 6186 099-126 9296
Phra-Thong Bayfront Camping & Cottage โทร 086 268 6888
พระทอง โอเอชิส คลิ๊ก
ตะวัน บาร์ แอนด์ บังกะโล
Mr.Chuoi Bar and Hut โทร 084 855 9886
Horizon Eco Resort โทร 081 894 7195
การเดินทางไปเกาะพระทอง
ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ อำเภอคุระบุรี ระยะทาง ประมาณ 720 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอคุระบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกเลี้ยว เข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร จะมองเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ทางขวามือจากนั้นขับตรงไปจนสุดทางจะเจอท่าเรือคุระบุรี ต่อเรือหางยาวเพื่อไปยังเกาะพระทอง สามารถติดต่อเรือได้จากรีสอร์ทที่เข้าพัก โดยค่าเหมาเรืออยู่ที่ เที่ยวละ 1500 บาท ไปกลับ 3000 บาท