ตึกแดง ตึกขาว อ่างศิลา
ตึกแดง และตึกขาว ตึกเก่าโบราณสวยงามที่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน ตั้งอยู่ในอำเภออ่างศิลา ชลบุรี เป็นอาคารที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นการผสมผสานระหว่างไทย จีน และตะวันตก ทัศนนียภาพที่สวยงามเพราะตั้งอยู่ริมทะเล ภายใต้ร่มไม้และสวนเขียวขจี ซึ่งมีการจัดทำเป็นทางเดินชมวิวทอดยาว รวมทั้งสวนสาธารณะขนาดย่อม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวอ่างศิลา และเป็นจุดเช็คอินถ่ายภาพสุดคลาสสิค ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนอ่างศิลา
ตึกทั้งสองตั้งอยู่ติดกับตลาดเก่าอ่างศิลาสามารถจอดรถเลียบถนนในซอยด้านหน้าตึก เพราะภายในตึกไม่มีที่จอดรถ จากนั้นเดินเข้ามาในพิ้นที่จะพบกับ ตึกแดง ก่อน พื้นที่จัดเป็นสวนร่มรื่น ตึกแดง หรือ ตึกราชินี มีลักษณะเด่น คือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นสีแดง มีส่วนที่เป็นระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าของอาคาร หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน บริเวณมุขชั้นล่างเป็นผนังทึบ มีประตูรูปซุ้มโค้ง ลักษณะหน้าต่างเป็นบานคู่ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรงและระเบียงเป็นปูนปั้นลูกมะหวด ส่วนของเฉลียงระเบียงลูกกรงนั้นใช้เป็นทางสัญจรและที่รับลมซึ่งมีลักษณะเหมือนบ้านกงสุลอังกฤษ และโปรตุเกสในสมัยนั้น ภายในจัดแสดงภาพและนิทรรศการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวของอ่างศิลา อาคารนี้เป็นที่พักผ่อนชายทะเลที่ครั้งหนึ่งเจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้านครเชียงใหม่ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพักรักษาพระองค์ที่นี่
ศาลาพักผ่อนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าตึก และทางเดินเลียบเลาะชายฝั่งทะเล ที่สามารถยืนชมวิวสวยๆ ของทะเลอ่างศิลา ในยามเย็น ตรงจุดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก
ถัดจากตึกแดง คือ ลานหินขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดสูงตั้ง เรียกว่า บ่อหินสูง ต้นกำเนิดของคำว่าอ่างศิลา เป็นบ่อน้ำจืดธรรมชาติซึ่งประชาชนช่วอ่างศิลาใช้ในการอุปโภคบริโภคมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่าบ่อหินสูงเพราะว่าเป็นบ่อที่ตั้งอยู่บนโขดหินสูงขึ้นมาจากพื้นดิน เป็นต้นกำเนิดของคำว่าอ่างศิลา โดยใน พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี มีลายพระราชหัตถเลขาพรรณนาตอนหนึ่งว่า “เรียกชื่ออ่างศิลานั้น เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆเป็นศิลาดาดและเป็นสระยาวรีอยู่ 2 แห่ง” เมื่อเห็นว่าสามารถเป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้จึงก่อเสริมปากบ่อกั้นน้ำ ชาวบ้านก็สามารถน้ำฝนในอ่างศิลามาใช้ บางปีฝนแล้งน้ำในสองบ่อไม่พอใช้ ก็ยังมีบ่อน้ำที่ราษฎรขุดไปขังน้ำฝนไว้ใช้ได้ จึงได้เรียกว่า “บ้านอ่างศิลา” มาจนทุกวันนี้
พระตำหนักมหาราช หรือ ตึกขาว ตั้งอยู่ติดกับตึกแดง เป็นตึกเก่าโบราณอีกตึกหนึ่ง ที่มุมถ่ายภาพสวยๆ ยืนโพสต์ท่าชิคหน้าตึกได้ฟีลดี ตึกมหาราช หรือที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า “พระตำหนัก ร.5 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นสีขาว หลังคาทรงปั้นหยา เอียงลาดมาทางด้านหน้าเป็นจั่วมุงกระเบื้อง ไม่มีชายคายื่นจากผนังโดยรอบ ไม่มีกันสาดบังแดดฝนให้แก่หน้าต่าง ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมตรงชั้นล่างส่วนหน้ามุข มีบันไดทางขึ้นแยกเป็น 2 ทางขึ้นสู่มุขตรงกลางอาคาร รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของทั้งสองตึกคล้ายกัน เนื่องจากระยะเวลานั้นอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบจีนยังมีอยู่มาก ทั้งเมื่อรับรูปแบบในลักษณะอิทธิพลตะวันตกแบบเมืองขึ้นเข้ามา จึงมีการผสมผสานทางสถาปัตยกรรมระหว่างไทยกับจีน ที่ดูสวยงามและคลาสิค
ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จัดแสดงวัตถุโบราณ อาทิ ครกหินอ่างศิลา เครื่องทอผ้า และถ้วยชามสังคโลก
ถัดจากตึกขาว คือ ศาลเจ้าแม่หินเขา ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสะพานปูสีแดงโดดเด่นไปยังศาลเจ้า เป็นศาลเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนอันสวยงาม เป็นศาลเจ้าที่สร้างยื่นออกไปในทะเล ชาวบ้านเรียกติดปากว่า เจ้าแม่หินเขา ศาลเจ้าแม่หินเขาตั้งขึ้นด้วยสาเหตุอันใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมาโดยสันนิษฐานว่า เจ้าแม่หินเขานี้น่าจะเป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระปิยมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากศาลดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณตึกขาว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระนางเรือล่ม” มีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่หินเขาทรงแผ่บารมีแก่ชาวเรือทั้งหลายให้คลาดแคล้วจากภัยทางน้ำให้ปลอดภัย ด้านหน้าศาลมีลานกว้างมองเห็นวิวทัศน์ทะเลอละวิถีชีวิตของชาวประมง ฟาร์มเลี้ยงหอยนางรม อาหารทะเลขึ้นชื่อที่เราจะเห็นตั้งขายตลอดทางเมื่อไปถึงอ่างศิลา
ตึกแดง ตึกขาว
ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี (แยกตลาดเก่าอ่างศิลา) เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน วันจันทร์ – ศุกร์ : 8.30 – 16.30 น.
เสาร์ -อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ : 9.30 – 16.30 น.