อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง 

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ประมาณ 77 กิโลเมตร  เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้งยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ คำว่า พนมรุ้ง มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่าภูเขาใหญ่ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ปราสาทหิน พนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์

 

 

ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุดเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ พระองค์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ดังนั้นการที่ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้ง จึงเป็นการสะท้อนถึงการนับถือ ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายได้เป็นอย่างดี เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผังของ ปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธาน ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่าพลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกัน ในปัจจุบันว่าพลับพลาเปลื้องเครื่องซึ่งเป็น ที่พักจัด เตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบ พิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน

 

 

สะพานนาคราช

ทางเดินไปยังตัวปราสาท ประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูม เรียกว่าเสานางเรียงจำนวนข้างละ 35 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช ซึ่งผังกากบาทยกพื้นสูงราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพานมีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผู้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา ที่หน้าซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 ระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบลาน ปราสาทแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะมีผนังกั้นอยู่เป็นช่วง ๆ มีซุ้มประตูกึ่งกลางของแต่ละด้าน ที่มุมระเบียงคดทำเป็นซุ้ม กากบาท ที่หน้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอก มีภาพจำหลักรูปฤๅษีซึงหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรวมหมายถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้ด้วย

 

ปราสาทประธาน

ประกอบด้วยตัวปราสาทประธานซึ่งตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือ ห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธาน ตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนก่อด้วยหินทรายสีชมพู มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อ ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่าสร้างโดยนเรนทราทิตย์ซึ่ง เป็นผู้นำปกครอง ชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น

 

นอกจากความสวยงามของตัวปราสาทแล้ว ยังได้เพลิดเพลินไปกับการชมศิลปะขอมโบราณ ผ่านภาพแกะสลักโบราณที่ปราณีตละเอียดอ่อน ของหน้าบันและทับหลัง มีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น ศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อวตารของ พระนารายณ์ เช่น พระรา(ในเรื่องรามเกียรติ์) หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤๅษีเป็นต้น โดยเฉพาะ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นทับหลังที่ถูกขโมยไปเมื่อราวปีพ.ศ. 2503และได้กลับคืนมาในปีพ.ศ. 2531

 

 

 

ปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย

ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานมีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย จากหลักฐานทาง ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่าปราสาททั้งสามหลังได้สร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตามลำดับ ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารสองหลังก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัยซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้าง ด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า รงช้างเผือก

 

 

ในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน ช่องชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้น มาเพื่อชม ความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน นอกจากนี้ในวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์จะตกส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน มีความเชื่อกันว่าปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ การรับแสง อาทิตย์ที่สอดส่องผ่านศิวลึงค์ ซึ่งตั้งอยู่กลางปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นการเสริมพลังชีวิตและความเป็นสิ่งมงคลกับตนเองและครอบครัว ของผู้ที่พบเห็น

 

การเดินทางไปชมปราสาทหินพนมรุ้ง

ในกรณีที่ท่านมิได้นำรถยนต์ไปเอง ต้องใช้บริการของบริษัทขนส่ง จำกัด แล้วลงที่อำเภอนางรอง จะมีรถสองแถวรับจ้างเหมาขึ้นปราสาทพนมรุ้ง คันละประมาณ 200-300 บาท เมื่อไปถึงปราสาทพนมรุ้งสามารถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ด้านหน้าปราสาทโดยจอดรถไว้ที่ลานจอดรถแล้วเดินขึ้นบรรไดไปประมาณ 400 เมตร และอีกทางคือด้านหลังตัวปราสาทต้องนำรถขึ้น โดยเสียค่าบริการ แล้วเดินขึ้นไปนิดเดียวประมาณ 100 เมตร ซึ่งจะเดินน้อยกว่าขึ้นด้านหน้า