วัดชลธาราสิงเห ตากใบ
วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) ตั้งอยู่ที่ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ มีจุดเด่นที่สวยงามโดยอาคารสถาปัตยกรรมแต่ละหลังจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีน ภูมิทัศน์รอบวัดเป็นบรรยากาศริมน้ำ ซึ่งสามารถเป็นที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยว จึงถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอันทรงคุณค่าและเป็นศูนย์กลางด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากเป็นโบราณสถานของชาวไทยพุทธที่รัฐบาลไทยได้หยิบยกเป็นเหตุผลอ้างอิง ในการปกปันเขตแดนในปี 2441 ที่มีผลไม่ให้ดินแดนส่วนนี้ถูกผนวกเข้าในเขตของประเทศมาเลเซีย ทำให้ประเทศไทยไม่สูญเสียเอกราชไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงได้สมญานามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
บรรยากาศโดยทั่วไปในวัดชลธาราสิงเห เงียบสงบ เมื่อเข้ามาภายในวัด จะพบกับกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์หรือกุฏิพระครสิทธิสารวิหารวัตร ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อนกันหลายชั้น มุงกระเบื้องดินเผา บันไดหน้าเป็นบันไดก่ออิฐถือปูน มีการทำพนักเป็นรูปตัวนาค ปลายหางโค้งงอนรับกับมุขหลังคา ยอดหลังคาตกแต่งด้วยปูนปั้นลายเครือเถา ภายในมีภาพวัดฝาผนังเก่าแก่งดงาม แต่เดิมเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ต่อมากุฏิพังทลายลง ทางวัดจึงสร้างขึ้นใหม่แต่รูปแบบค่อนข้างต่างไปจากเดิม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑสถานวัดชลธาราสิงเหเพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัดจากภาพถ่ายเก่า
เดินเข้าไปข้างในวัดจะเจอกับศาลาธรรมรุ่นเก่าอีกหลังหนึ่ง เป็นศิลปะปักษ์ใต้ผสมอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนแปลกตา สีสันแบบพาสเทลสวยงาม กลายเป็นมุมถ่ายภาพเก๋ๆอีกจุดหนึ่ง ทั้งผนังของศาลา บานประตู มีการเล่นสีตัดกันอย่างสวยงาม
ถัดไป คือ พระอุโบสถ ที่สร้างในสมัยรัชการที่ 5 มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนโดยฝีมือพระภิกษุชาวสงขลางดงามมาก และถ่ายทอดรูปแบบชีวิตวัฒนธรรมความเป็น อยู่ท้องถิ่นปักษ์ใต้ น่าเสียดายที่ไม่ได้เข้าไปถ่ายภาพจิตรกรรมฝานังภายในพระอุโบสถ เนื่องจากวันที่เดินทางมีพิธีบวชนาค
หอกลองโบราณ อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่มีความงดงาม
จุดสุดท้ายในวัด ซึ่งเป็นจุดสำคัญคือ พลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสวัดชลธาราสิงเห และได้มีการสร้างพลับพลาริมแม่น้ำตากใบเป็นที่ประทับ ซึ่งทางวัดยังรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์
ศาลาริมน้ำภายในวัดสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
ไม่ไกลจาก วัดชลธาราสิงเหมีที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ คือ เกาะยาว จากสี่แยกตลาดอำเภอตากใบเลยไปยังแม่น้ำตากใบ มีสะพานไม้ชื่อ “สะพานคอย 100 ปี” ยาว 355 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ซึ่งทางด้านตะวันออกของเกาะจะติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาล บรรยากาศสงบงาม
ความสำคัญของวัดชลธาราสิงเห
วัดชลธาราสิงเหนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พรมแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่รัฐบาลสยามใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนใน สมัย รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452 ในเวลานั้นเมื่อแหลมมลายูได้ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติช จากสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 อังกฤษได้พยายามที่จะผนวกจังหวัดนราธิวาสให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายาด้วย ซึ่งอังกฤษได้อ้างการปักปันเขตแดนโดยใช้สันเขาและแม่น้ำเป็นแนวตามหลักสากล เข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห 25 กิโลเมตร ซึ่งเส้นแบ่งเขตรัฐกลันตันกับประเทศไทยจะอยู่ที่ตำบลบ้านสะปอม ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอตากใบในปัจจุบัน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลสยามจึงถือยกเอาพระพุทธศาสนา วัด และศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน โดยให้เหตุผลว่าวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญ เป็นมรดกทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใบ มีอาคารสถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทย ประชาชนนับถือศาสนาพุทธเป็นเวลาช้านาน ประกอบกับท้องที่อำเภอตากใบมีวัด ชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงควรไม่รวมพื้นที่เหล่านี้ไปในเขตรัฐกลันตันที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม สุดท้ายอังกฤษยอมจำนนต่อเหตุผลและยอมรับให้เป็นจังหวัดนราธิวาสในประเทศไทยต่อไป ฝ่ายอังกฤษจึงยอมเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำแม่น้ำโก-ลกทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือแม่น้ำตากใบของจังหวัดนราธิวาสอยู่ในการปกครองของราชอาณาจักรไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้ 4 อำเภอชายแดนไทย คือ อำเภอตากใบ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และ อำเภอสุไหงโก-ลก ไม่ต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย วัดชลธาราสิงเหจึงเป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
การเดินทาง
ใช้ทางหลวงหมายเลข 4085 นราธิวาส-ตากใบ ถึงสี่แยกตลาดอำเภอตากใบ เลี้ยวซ้าย ๑๐๐ เมตร จะถึงปากทางเข้าวัด หรือรถนั่งรถโดยสารประจำทางเส้นที่จะไปอำเภอตากใบ มีรถสองแถว รถตู้ และรถบัส ขึ้นที่สถานีขนส่งนราธิวาส ลงสามแยกอำเภอตากใบ เดินเข้าไปอีก 500 เมตร