วัดมิ่งเมือง เชียงราย

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย วัดมิ่งเมือง  มีบ่อน้ำโบราณ ชื่อ น้ำบ่อจ๊างมูบ ศิลปะแบบไทยใหญ่ มีซุ้มครอบไว้ เป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอบ เชื่อกันว่าบ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของผู้คนโบราณ ที่สัญจรเข้าออกเมือง ได้มาพักกายบริเวณประตูเมืองเพื่อดื่มน้ำและล้างหน้าให้เกิดสิริมงคล ก่อนจะเริ่มเดินทางออกหรือ เข้าสู่เมืองเชียงราย

 

 

   

โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัด

 

องค์พระประธาน
เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๑ ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง ๔ ครั้งมีอายุถึง ๔๐๐ กว่าปี ซึ่งครั้งหลังสุดช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด ๘๐ นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ ๑ ยุคต้นโดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็น รูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจียหรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น

เจดีย์
ปูชนียสถานเก่าแก่ที่คู่มากับวัด สร้างด้วยเป็นศิลปะแบบล้านนา เดิมก่อนการบูรณะเป็นรูปทรงพม่าทั้งหมด แต่ต่อมาได้รับการบูรณะ ใหม่ โดยสร้างเจดีย์บริวารตั้งไว้สี่มุม ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า ชาวบ้านเรียกเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” นอกจากนี้เจดีย์นี้มี ความสำคัญ คือ เป็นที่เก็บรวบรวมประวัติของวัดไว้

 

 

วิหาร
เป็นวิหารไทใหญ่ประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการ กรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน ๓๔ ตัว

 

 

บ่อน้ำ
ชาวบ้านทั่วไป เรียกบ่อน้ำนี้ว่า “น้ำบ่อช้างมูบ” เพราะรูปแบบการก่อสร้างมีหลังคาเป็นรูปซุ้มโขง ประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่อง ซึ่งหมอบอยู่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในสมัยโบราณ บ่อนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ชุมชนชาวตลาดเชียงรายเป็นอย่าง มากเพราะ เป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในบริเวณนี้ ทั้งใช้ตักดื่ม และตักไปขาย และเป็นสถานที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างในเมืองและนอกเมือง เมื่อชาวบ้านเดินทางไกลมาจะเข้าเมือง จะแวะพักดื่มน้ำที่บ่อนี้ก่อน และดื่มน้ำที่บ่อช้างมูบก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไป