สถานีรถไฟบ้านปิน แพร่
สถานีรถไฟบ้านปิน ตั้งอยู่ในตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นสถานีรถไฟที่มีอาคารมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยศิลปะยุโรป มีอายุกว่า 100 ปี เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างด้วยสไตล์ “เฟรมเฮ้าส์” แบบบาวาเรียน หรือแบบโครงไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในแคว้นบาวาเรียของเยอรมนี ประกอบกับเมืองแพร่มีป่าไม้สักอุดมสมบูรณ์ที่สุด ทำให้เกิดแนวคิดในการออกแบบผสมผสานให้เข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทย ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในยุคนั้นได้อย่างลงตัว ถึงแม้จะผ่านมามากกว่าร้อยปีแล้วแต่อาคารก็คงยังดูสวยงามทรงคุณค่า
สถานีรถไฟบ้านปิน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยการรถไฟหลวงแห่งสยาม มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุร-ฉัตรไชยการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บังคับบัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง โดยตัวอาคารสองชั้นตัวตึกประกอบด้วยไม้ หลังคาจั่วและปั้นหยา ตัวอาคารทาด้วยสีเหลือง ตัดกับโครงสร้างสีน้ำตาลเข้ม หน้าต่างโค้งมีลายฉลุสวยงาม ประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้ เหนือบานประตูหน้าต่างและหน้าช่องจำหน่ายตั๋วประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษามีความงดงามอ่อนช้อยประณีตละเอียดอ่อน
ด้านหน้าสถานีประดับด้วยภาพตุ๊กตาจำลองบรรยากาศของสถานีบ้านปินสีสันสดใส กลายเป็นมุมถ่ายภาพน่ารักที่นักท่องเที่ยวต้องแวะถ่ายภาพ
อาคารห้องประชุมสวยงาม ภายในจัดแสดงภาพของสถานีป้านปิน ตั้งแต่ในยุคอดีตถึงปัจจุบัน
บรรยากาศภายในสถานี เส้นทางรถไฟสายเหนือที่เชื่อมยาวไปจนสุดลูกหูหลูกตา มองเห็นวิวภูเขาอยู่เบื้องหน้า พร้อมสายหมอกลอยคลอเคลีย เป็นสถานี่วิวสวยมีความเป็นธรรมชาติมาก
ตรงกันข้ามกับสถานีเป็นฝายกันน้ำ ที่มีระเบียงชมวิวไม้ไผ่ สามารถไปยืนชมวิวฝาย เช็คอินถ่ายภาพสวยๆ ได้อีกจุดหนึ่ง สถานีรถไฟบ้านปินจึงเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่เชิญชวนผู้คนให้อยากมาสัมผัสกับที่แห่งนี้