เที่ยวสรรพยา เล่าอดีต สัมผัสวิถีชุมชนน่ารัก แห่งเมืองชัยนาท
สรรพยา (สับ-พะ-ยา) อำเภอเล็กๆติดแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดชัยนาท เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นชื่อเท่าใดนัก เพราะหากพูดถึงชัยนาทจะนึกถึงแต่ สวนนก และเขื่อนเจ้าพระยา สรรพยา เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงมีความเรียบง่ายของวิถีชีวิต ดึงดูดให้เราได้เข้าไปสัมผัสถึงความน่ารักของชุมชนเล็กๆแห่งนี้ สำหรับการมาเที่ยวสรรพยา สามารถเที่ยวได้แบบไปเช้าเย็นกลับ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนักใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
ออกเดินทางจากกรุงเทพประมาณ 8 โมงกว่า เพื่อมุ่งหน้าไปยังอำเภอสรรพยา ซึ่งจะอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอชัยนาท ถึงสรรพยาประมาณ 11.30 น. จุดหมายแรกก่อนเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดต่างๆ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง แวะไปที่ร้านอาหาร ต้นตะขบ ซึ่งเป็นร้านชื่อดังของชัยนาท ตั้งอยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยา ร้านนี้มีเมนูขึ้นชื่อ คือ ผัดไทย แบบต่างๆ เมนูเส้นผัดไทยที่หน้าตาดูธรรมดา แต่รสชาติกลมกล่อมมาก ตัวเส้นที่ใช้ ทั้งเส้นเล็ก เส้นเล็กนิ่มลื่น และวุ้นเส้นเหนียวนุ่มอร่อย นอกจากผัดไทยแล้วยังมีเมนูอื่นๆที่เป็นอาหารจานเดียวมีให้เลือกมากมาย โดยเน้นใช้ปลามาเป็นส่วนประกอบสมชื่อกับเป็นเมืองที่ติดเขื่อน ทั้ง ปลาลวกจิ้ม เมนูปลาทอดกระเทียม ทอดน้ำปลา เมนูต้มยำ และเมนูผัดฉ่า
ไม่ไกลจากร้านต้นตะขบ คือ ที่ตั้งของ เขื่อนเจ้าพระยา สถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของชัยนาท ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสรรพยา เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทัศนียภาพรอบเขื่อนสวยงาม โดยได้จัดทำเป็นสะพานทอดยาวไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทสำหรับเดินเล่นชมวิวริมเขื่อนได้ โดยเฉพาะในยามเย็นเขื่อนเจ้าพระยาเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก
สรรพยา มีผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ขึ้นชื่อ คือ ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาบ้านอ้อย เป็นงานฝีมือของกลุ่มคนในชุมชนที่มีความสนใจด้านงานจักสาน โดยการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มสมาชิกขึ้นมา เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นการระดมความคิด ทางด้านการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผลิตภัณฑ์และชุมชนอื่น ทางกลุ่มมีการถ่ายทอดความรู้สู่ท้องถิ่นใกล้เคียง จังหวัดต่างๆ และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน
โดยมีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เช่น การพันเกลียวผักตบชวา และพัฒนารูปแบบการจักสานมาเป็นกระเป๋าสุภาพสตรี กระจาด ตะกร้าใส่ของใช้ต่างๆ มากมาย สมาชิกในกลุ่มนำมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ผลงานที่สวยงาม ทันสมัย มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน สำหรับใครที่ชอบผลิตภัณฑ์แนวนี้ก็มาเลือกซื้อหาได้มีกระเป๋าแบบเก๋ๆมากมาย ที่สำคัญราคาไม่แพงมาก
มาเยือนอำเภอสรรพยา ชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดชัยนาททั้งที ต้องไปแวะที่ วัดสรรพยาวัฒนาราม กราบสักการะ หลวงปู่เฟื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ บริเวณประตูเข้าวัด มีหลวงพ่อพุทธสำเร็จ พระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าวัด ภายในวัดยังมีโบราณคดีที่สำคัญอย่าง อุโบสถหลังเก่า พระวิหาร ศาลาพระพุทธ และกลุ่มเจดีย์ ศิลปะสมัยอยุธยาอายุกว่า 100 ปี บรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบายเพราะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้ว
วิหารน้อย วิหารเก่าแก่ภายในพระวิหารมีพระพุทธรุปปางกราบพระบรมศพซึ่งหาชมยาก พบเพียงไม่กีวัดในประเทศไทย สำหรับที่นี่พระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในสภาพสมบูรณ์และครบถ้วนตามหลักพระรัตนตรัย คือ มีพระพุทธเจ้าประทับนอนในหีบพระบรมศพ มีพระสงฆ์ ได้แก่ พระมหากัสสปะ (องค์สีทอง) พระอริยสงฆ์ นั่งสมาธิปลงสังเวช และพระสมมติสงฆ์นั่งชันเข่าในอาการเศร้าโศกเป็นตัวแทนของปุถุชน ทั้งหมดประกอบรวมเป็นหลักคำสอนหรือพระธรรมนั่นเอง ส่วนพระบาทยื่นออกมานอกหีบเป็นปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระมหากัสสปะถวายบังคม ก่อนไฟลุกไหม้พระบรมศพ ไม่เพียงสะท้อนสัจธรรมชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น และชาวบ้านยังนิยมกราบไหว้พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ เพื่อขอพรเกี่ยวกับสุขภาพให้หายจากอาการเจ็บป่วยหรือให้ร่างกายแข็งแรง ข้างบนเพดานวิหารมีการติดกระจกไว้สามารถมององค์พระพุทธรูปนอนหงายได้แบบเต็มองค์จากกระจก ดูแปลกดี บริเวณผนังด้านหลังพระวิหาร มีภาพแกะสลักพระพุทธรูปโบราณที่ดูเก่าแก่และงดงามมาก มองไปที่รอบองค์พระพุทธรูปีต้นโพธิ์ต้นเล็กๆ ขึ้นแซมออกมาจากผนังด้วย แปลกมาก
ติดกับวัดสรรพยา คือ ชุมชนเก่าตลาดสรรพยา ชุมชนเล็กๆที่มีบ้านเรือนเก่าแก่ เป็นอาคารไม้ที่สวยงามหลายหลัง โดยชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้ บ้านเรือนเรียงรายอยู่ตลอดสองฝั่งถนน ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น. ที่นี่จะมีตลาดกรีนดี หรือ ตลาดโรงพักเก่าสรรพยาเป็นตลาดที่ไม่ใช่โฟมในการใส่อาหารแห่งแรกในชัยนาท บรรยาศจะคึกคัก มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของสินค้าและอาหารท้องถิ่น ต่างๆ มากมาย แต่ถ้ามาเที่ยวในช่วงเวลาอื่นบรรยากาศก็จะเงียบสงบ ซึ่งสามารถมาเดินเล่นชมบ้านเรือน และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนได้
นอกจากบ้านเรือนเก่าแก่ตลอดสองฝั่งถนนที่มีให้ได้ชมแล้ว ยังมีภาพเพ้นท์ผนังที่น่ารัก ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชนชาวสรรพยาชุมชนริมน้ำที่มีความผูกพันธุ์กับสายน้ำเจ้าพระยามาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นภาพกลุ่มเด็กหัวจุกกระโดดน้ำอย่างสนุกสนาน ภาพชาวบ้านกำลังใช้สุ่มจับปลา และภาพควายกำลังเล่นน้ำเป็นภาพแบบสามมิติให้เราได้โพสต์ท่าจูงด้วย
เดินมาเกือบสุดชุมชน เราจะโรงพักเก่าแก่โบราณ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าตลาดเก่าสรรพยา เป็นอาคารทรงปั้นหยาสีขาวครีมยกพื้นสูง อายุกว่า 100 ปี ตามประวัติก่อสร้างโรงพักเก่าสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2444 หรือ ร.ศ.120 สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งปี พ.ศ.2530 ได้ย้ายออกไปสร้างโรงพักแห่งใหม่ ทำให้บริเวณดังกล่าวเงียบเหงามาก ชาวบ้านเห็นอาคารเริ่มทรุดโทรม จึงอยากให้อนุรักษ์และพัฒนาไว้เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นอาคารโรงพักเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ต่อมาทางเทศบาลตำบลสรรพยา จึงปรับปรุงพัฒนาให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ โดยทำเป็นศูนย์วัฒนธรรมชุมชน เพื่อรองรับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นพิพิธภัณฑ์อันเก่าแก่ที่สวยงามของ อ.สรรพยา จึงทยอยปรับปรุงโรงพักเก่าและตกแต่งตัวอาคารและภูมิทัศน์จนสวยงาม เรียกว่า เหมาะสำหรับมาถ่ายภาพ สไตล์วินเทจเก๋ๆมาก
เที่ยวในชุมชนสรรยากันจนเต็มอิ่ม ได้เวลากลับแล้ว ก่อนกลับเราแวะจิบเครื่องดื่มกันเบาที่ คลาสสิคคาร์คาราวาน คาเฟ่ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสรรพยา เช่นกัน แต่จะอยู่ติดถนนสายเอเซีย กม 117 ขาเข้ากรุงเทพ ซึ่งสามารถแวะได้ตอนกลับ เพราะเป็นเส้นทางผ่าน ร้านนี้เป็นทั้งที่พักและคาเฟ่ โดยที่พักจะเป็นรถบ้านให้เราได้เลือกนอนรวมทั้งบ้านพักแบบเป็นหลังใครไม่พักก็มาทานอาหารได้ มีทั้งอาหารให้เลือกและเครื่องดื่มหลายเมนู
บรรยากาศของร้านตกแต่งแบบสบายๆ ร่มรื่นมาก กลางสวน มีที่นั่งแบบบนต้นไม้ขนาดใหญ่เก๋มาก และมีสวนสัตว์น้อยๆ ให้เราได้มาถ่ายรูปเล่น หรือจะให้อาหารก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ่อปลาคาร์ฟ ที่มีปลาเยอะมาก หรือจะเป็นให้นมแพะ ขี่ม้า ให้อาหารกระต่าย แล้วแต่ชอบ
พื้นที่ด้านหลังร้านติดทุ่งนา มีรถบ้าน และที่นั่งให้นั่งเล่นชมบรรยากาศได้อย่างผ่อนคลาย แถมเป็นมุมเก๋ๆให้ถ่ายภาพได้อีกด้วย
สรรพยา อีกหนึ่งอำเภอที่มีบรรยากาศแบบคลาสสิคและน่าเที่ยวของชัยนาท เรียกได้ว่ายังคงมีความสงบและผู้คนยังคงใช้ชีวิตกันแบบรักษาวัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น มาเที่ยวสรรพยา ให้อารมณ์เหมือนมาเที่ยวต่างจังหวัดในอดีต ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของบ้านเรือนริมน้ำแบบดั้งเดิม ที่สร้างความสุขและมีแต่รอยยิ้มทุกครั้งที่ได้เห็นภาพนั้น