ปลดล๊อคความกลัว นราธิวาส ไม่ยากอย่างที่คิด 3 วัน 2 คืน เที่ยว กิน พัก ครบ
“ น่ากลัว ไม่กล้าไป ” “ ไกลจัง ” “ มีอะไรให้เที่ยวเหรอ” “ ไปยาก ไม่ค่อยมีข้อมูล” เป็นความรู้สึกที่หลายคนมีต่อ “ นราธิวาส” ซึ่งตัวเราเองก่อนเดินทางมาจังหวัดนี้ ก็มีความคิดไม่ต่างไปจากนี้นัก คือ กลัวไม่กล้าไป ตัดแค่ความคิดเรื่อง “ไกลจัง” กับ “มีอะไรให้เที่ยวออกไป” เพราะถึงแม้จะไกลแต่มีเครื่องบินไปถึง ใช้เวลาเดินทางแค่ชั่วโมงครึ่งไม่ต่างจากนั่งไปเชียงใหม่ เชียงราย ส่วนมีอะไรให้เที่ยวบ้าง มีมากมายลิสต์สถานที่ทั้งเที่ยว กิน แบบอัดแน่นมาก จนเพื่อนร่วมทางถามว่าจะแวะกันหมดเหรอ “ไปยากไม่มีข้อมูลเลย” อันนี้ใช่เลยเพราะข้อมูลโดยเฉพาะเรื่องการเดินทางในนราธิวาส ถ้าไปเองเท่าที่ค้นหา คือ มีน้อยมาก ที่เห็นส่วนใหญ่มีแต่ที่เที่ยวแต่ไม่ลงลึกเรื่องการเดินทาง ถ้าให้เดินทางไปเองและแวะเที่ยวตรงนั้นตรงนี้จะยากหน่อย ทำให้รู้สึกห่างไกลจากจังหวัดนี้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่หลังจากที่ได้เดินทางไปนราธิวาสด้วยตัวเอง เหมือนเป็นการปลดล๊อคทุกความคิดที่มีต่อจังหวัดนี้ เอ้ย !!! นราธิวาสไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้เที่ยวยากอย่างที่คิด แต่ยังไม่ต้องเชื่อก็ได้ ถ้ายังไม่ได้อ่านรีวิวนี้จนจบ
วันแรก
เที่ยวในตัวเมืองนราธิวาสและอำเภอใกล้เคียง
12.30 น. ถึงนราธิวาส
การเดินทางมานราธิวาสสามารถเดินทางได้หลายแบบ ทั้งนั่งรถไฟ นั่งรถทัวร์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะถึง เพื่อความสะดวกรวดเร็วเราเลือกเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะใช้เวลาแค่เพียงชั่วโมงครึ่ง โดยเที่ยวบินมานราธิวาสมีวันละ 2 รอบ คือ สายการบินแอร์เอเชียมาถึงเวลาเที่ยงครึ่ง และไทยสไมล์ มาถึงเวลาสี่โมงครึ่ง เราเลือกเดินทางโดยแอร์เอเชียเพราะมาถึงเร็วกว่า จากสนามบินมีรถโดยสารให้บริการไปส่งยังอำเภอหลักๆได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก สำหรับรายละเอียดราคาและเส้นทางสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://bit.ly/2HO9Bav ส่วนใครที่จะเช่ารถขับเองนั้นขณะนี้ ยังไม่มีบริการรถเช่าที่สนามบิน หากต้องการใช้รถส่วนตัวต้องเช่ามาจากจังหวัดอื่นแล้วขับมาเองอย่างเช่น เช่าจากหาดใหญ่ ยะลาหรือปัตตานี แต่ที่นราธิวาสมีบริการรถตู้นำเที่ยวให้เช่าพร้อมคนขับโดยคิดราคาวันละ 2500 บาท (รวมน้ำมันแล้ว)เหมาะสำหรับเที่ยวเป็นหมู่คณะ หรือไม่หมู่คณะแต่ไม่เกี่ยงเรื่องงบ เน้นความสะดวกเพราะมีคนในพื้นที่ขับพาเที่ยว ราคานี้เน้นพาเที่ยวในตัวเมืองและอำเภอตากใบ สุไหงโกลก ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหลักส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในสามอำเภอนี้ ส่วนอำเภออื่นต้องสอบถามราคาอีกครั้ง สามารถติดต่อได้ที่บริษัทดี ดี ทัวร์ ซึ่งให้บริการรถโดยสารรับส่งจากสนามบินและรถตู้นำเที่ยวในนราธิวาสโดยตรง โทร 089 655 0557 (พี่ดี)
การเดินทางท่องเที่ยวในนราธิวาส
สามารถแบ่งเส้นทางท่องเที่ยวหลักซึ่งเป็นที่นิยมซึ่งจะตั้งอยู่ใน 5 อำเภอ คือ อำเภอเมือง + บาเจาะ สามารถเที่ยวได้ในหนึ่งวัน ต่อด้วยเที่ยวในอำเภอตากใบใช้เวลาเพียงครึ่งวัน อีกครึ่งวันไปต่อยังอำเภอสุไหงโกลก และอีกวัน คือไป อำเภอสุคิริน ซึ่งใช้เวลา 3 วัน 2 คืน ก็เที่ยวได้เกือบครบทั้งหมด แต่ถ้าใครมีเวลาแค่ 2 วัน 1 คืน ก็ตัดสถานที่บางแห่งออกไปได้ตามความชอบ เช่น เที่ยวแค่ในตัวเมือง ตากใบ สุไหงโกลก ใช้เวลาแค่ 2 วัน 1 คืน ก็เที่ยวได้ หรือถ้าจะไปสุคิรินอย่างเดียว 2 วัน 1 คืน ก็ไปได้ แต่เราเน้นเที่ยวแบบจัดเต็ม มาทั้งทีต้องเก็บให้ครบ 3 วัน 2 คืน ไปเลยค่ะ สำหรับเราการเดินทางท่องเที่ยวนราธิวาสไปกันเองผู้หญิง 2 คน จากกรุงเทพก็กล้าที่จะไป โดยใช้รถส่วนตัวของคนรู้จักในพื้นที่ใกล้เคียงขับเที่ยวซึ่งเป็นบุรุษอีกหนึ่งคน รวมเป็น 3 คน เรียกว่าพวกเราผู้ซึ่งไม่เคยมานราธิวาสกันมาก่อนเลย ขับรถเที่ยวกันเองโดยลิสต์สถานที่มาล่วงหน้า ขับตาม google maps แบบสบายๆ จากสนามบินใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก็มาถึงตัวเมืองนราธิวาส ภาพของบรรยากาศในตัวเมืองเห็นครั้งแรก จากภาพในหัวที่คิดว่าต้องมีด่านตรวจเยอะ ต้องมีทหารยืนเฝ้าเต็มไปหมด แต่ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ แทบไม่มีด่าน แทบไม่เห็นทหาร กลายเป็นว่าราบเรียบสงบมาก ยังคุยกับเพื่อนร่วมทางว่า “น่ากลัวตรงไหนเนี่ย บ้านเมืองเค้าดูโอเค ดูชิลๆ ดีออก ผู้คนก็ใช้ชีวิตกันตามปกติ ถนนหนทางกว้างขวาง” เริ่มรู้สึกผ่อนคลายจากความกลัวไปได้อีกหนึ่งสเตป
13.00 น. มื้อเที่ยง ร้านมันตรา
จุดหมายแรก ต้องหาอะไรทานให้อิ่มท้องก่อน มุ่งหน้าไปที่ ร้านมันตรา ใจกลางเมืองนราธิวาส ลักษณะร้านเป็นตึกห้องแถวเก่าแก่คลาสิค ที่นำมาตกแต่งใหม่ ร้านตั้งอยู่ติดปากอ่าวที่เป็นทางออกของแม่น้ำบางนรามาบรรจบกับทะเล ทำให้บรรยากาศดีมาก สามารถนั่งรับลมทะเลชิลๆ ส่วนด้านบนจะเป็นห้องประชุมห้องใหญ่ที่รองรับการสัมมนาและงานเลี้ยงได้
เมนูแนะนำ เช่น ปลากระพงทอดมาอย่างกรอบราดยำน้ำบูดูกลิ่นหอมแตะจมูก โรยหน้าด้วยถึงเครื่องสมุนไพร ทั้งตะไคร้ใบมะกรูด หัวหอม เสริฟพร้อมผักเครื่องเคียง เมนูนี้เอาใจไปเลยอร่อยมาก ต่อด้วยยำปลากุเลาเค็มทอด ของดีเมืองนรา รสชาติคล้ายปลาอินทรีย์เค็ม แต่เนื่อจะแน่นกว่า โรยหน้าด้วยผักยำอย่างหัวหอมและพริก บีบมะนาวลองไปนิดหน่อย ข้าวสองจานอาจหมดได้ พลาดไม่ได้กับอีกเมนูเมื่อมาเยือนแดนใต้ ผัดสะตอกุ้งสด คลุกเคล้ามากับกะปิอย่างหอม สะตอลูกใหญ่ ใส่หอมใหญ่กระเทียมดอง น้ำผัดกลมกล่อม ตบท้ายด้วยแกงส้มปลากระบอก ที่รสชาติของน้ำแกงนั้นจัดจ้านตามแบบฉบับแกงใต้ขนานแท้
ร้านมันตรา
ที่อยู่: ตำบล บางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส นราธิวาส 96000
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. -22.00 น.
โทร 073 516 747
14.00 น. ศาลเจ้าโก้วเล่งจี่ + พระพิฆเณศเมืองนราธิวาส
จากร้านอาหารมันตราใช้เวลาไม่กี่นาที ก็มาถึง ศาลเจ้าโก้วเล่งจี่ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เป็นศาลเจ้าแห่งแรกของชาวจีนในตัว จ.นราธิวาส เดิมเป็นศาลไม้เก่าแก่ อายุประมาณ ๔๐ ปี คนไทยเชื้อสายจีนที่ได้มาอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาส ที่มีความศรัทธาต่อองค์เทพเจ้าจีน จึงได้สร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อประกอบพิธีมงคลต่างๆ และให้ลูกหลานกราบไหว้ขอพรเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ที่แปลกไปจากศาลเจ้าอื่นๆ คือ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ มีเจ้าที่หรือเจ้าศาล เป็น “หัวมังกรคาบแก้ว” ซึ่งมีลำตัวใหญ่ยาวมาก คอยปกปักรักษาดูแลลูกหลานชาวไทยโดยแต่ละวันจะมีคนมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวขอพรเป็นประจำ
ภายในศาลเจ้าได้จัดจำลองรูปเหมือนองค์เทพเจ้าหลายองค์ อาทิ พระยูไล พระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู เจ้าพ่อเสือ องค์เห้งเจีย เจ้าแม่กวนอิม บริเวณฝาผนังมีภาพปูนปั้นที่สวยงามมาก เป็นปูนปั้นองค์เทพเจ้าต่างๆ เป็นการปั้นของช่างชาวจีนในสมัยก่อนโดยไม่ได้ใช้แม่พิมพ์ แต่เป็นการปั้นขึ้นจากจินตนาการของช่าง รวมทั้งเสามังกรปูนปั้น แบบปั้นมือโดยเป็นจินตนาการของช่างซึ่งหาดูได้ยาก ส่วนผนังภายนอกเป็นปูนปั้นบอกเล่าเรื่องราวทางขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมจีน ตามตำนานพงศาวดารจีน มีความวิจิตรสวยงามมาก
ติดกับศาลเจ้าเป็นที่ตั้งของ พระพิฆเณศเมืองนราธิวาส เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างขวัญกําลังใจให้กับผู้เลื่อมใสศรัทธา ผู้ที่ได้สักการะบูชาถือเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ประติมากรรมพระพิฆเนศ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ความเมตตา และความสําเร็จ การสร้างเกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของชาวนราธิวาส โดยมีลักษณะเป็นเทวรูปประทับนั่งในท่าลลิตาสนะ สวมศิลาภรณ์ (มงกุฎ) ประดับโมเสกแก้วหลากหลายสี ห่มพัตราภรณ์ ลักษณะนุ่งแบบอินเดีย มีแท่นประทับอยู่บนดอกบัว ขนาดหน้าตักกว้าง 7 เมตร สูง 16 เมตร มี 4 กร ภายในเทวสถานมีวิหารหนุมานและวิหารไสบาบา ซึ่งในปัจจุบันกำลังบูรณะซ่อมแซมใหม่
14.30 น. พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล
มาถึงนราธิวาส ต้องไม่พลาดสถานที่สำคัญ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ห่างจากตัวเมืองนราธิวาส 9 กิโลเมตร พระพุทธรูปทักษิณมิ่งมงคลสีทองปางปฐมเทศนาขัดสมาธิเพชรอยู่บนยอดเขา เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งที่งดงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้ องค์พระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกสีทอง หน้าตักกว้าง 17 เมตร ความสูงวัดจากพระเกศบัวตูมถึงบัวใต้พระเพลา 24 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกของอ่าวไทย องค์พระพุทธทักษิณมิ่งมงคลได้ประดิษฐานอย่างมั่นคงคู่กับจังหวัดนราธิวาส และดินแดนภาคใต้ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ และเป็นที่สักการะบูชาอย่างสูงของชาวพุทธในดินแดนภาคใต้
ประวัติความเป็นมาในการก่อสร้างพระพุทธทักษิณมิ่งมงคลขึ้นบนยอดเขากงนี้ ด้วยสาเหตุว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพุทธสถานมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นซากโบราณสถานอันเป็นส่วนประกอบของเจดีย์พร้อมทั้งเศียรพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานรวมทั้งโบราณวัตถุมากมาย ดังนั้นบรรดาพุทธบริษัท ทั้งหลายจึงรวมใจกันสร้างองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่บนยอดเขากง เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด
ในบริเวณเดียวกัน มี เจดีย์สิริมหามายา ทรงระฆังเหนือซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศมีเจดีย์รายประดับอยู่ ภายในประดิษฐานพระพรหม บนยอดสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์
15.00 น. มัสยิดวาดีลฮูเซ็น มัสยิด 300 ปี
จุดหมายต่อไปพิมพ์ลงใน google maps เราจะไป มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรืออีกชื่อหนึ่งคือ มัสยิด 300 ปี โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้ตะเคียนทั้งหลัง ผสมผสานศิลปะไทย จีน และมลายูเข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์ สถานที่อันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางศาสนา และมีสถาปัตยกรรมอันสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ผ่านกาลเวลามายาวนานนับร้อยปี สร้างขึ้นโดยนายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2167
เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง สถาปัตยกรรมของมัสยิด 300 ปี สร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานศิลปะแบบจีน และมลายู เป็นอาคาร 2 หลังติดกัน มีเสาไม้ 26 ต้น เสามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ฝาประกบหน้าต่างทำด้วยไม้ทั้งแผง แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ จุดเด่นอยู่ที่โครงสร้างหลังคาทั้ง 2 หลัง ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยมัสยิดหลังแรก มีหลังคาทั้งหมด 3 ชั้น มุงด้วยกระเบี้องดินเผาหลังคาชั้นที่ 3 มีโดมเป็นเก๋งจีนอยู่บนหลังคา เป็นศิลปะแบบจีนแท้ เสาแกะสลักเป็นรูปดอกพิกุล ในสมัยนั้นเก๋งจีนจะใช้เป็นหออาซาน (สำหรับตะโกนเรียกคนมาละหมาด)ส่วนมัสยิดหลังที่ 2 มีหลังคา 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่ 2 มีจั่วอยู่บนหลังคาชั้นแรกมีฐานดอกพิกุลหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่ง
16.00 น. น้ำตกปาโจ
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด อยู่ในคำขวัญของนราธิวาส ตั้งอยู่ในอำเภอบาเจาะ ไม่ไกลจากมัสยิด 300 ปี น้ำตกปาโจ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ของผืนป่าบูโดที่มีน้ำตลอดปี แต่ในหน้าแล้งน้ำค่อนข้างน้อย ตัวน้ำตกมี 4 ชั้น ชั้นแรกมีขนาดใหญ่และสวยที่สุด มีสายน้ำไหลตกจากลานผาหินกว้าง สูง 60 เมตร ลงสู่แอ่งน้ำใหญ่
เมื่อมาถึงที่ทำการอุทยาน มีเส้นทางเดินไปยังน้ำตกปาโจ ประมาณ 300 เมตร เป็นเส้นทางเดินปูนที่ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้เขียวขจี เมื่อใกล้ถึงตัวน้ำตกมีการจัดทำสะพานไม้เป็นทางเดินทอดยาว ระหว่างทางมีจุดพักชมวิว ที่สามารถยืนมองน้ำตกได้ในอีกมุมหนึ่ง แต่ละชั้นจะมีกระแสน้ำไหลลัดเลาะมาตามก้อนหินเล็กใหญ่ และมีแอ่งน้ำขังขนาดใหญ่ให้ได้เลือกเล่นน้ำตามใจชอบ
น้ำตกชั้นที่ 1 ได้รับความนิยมและสวยงามที่สุด มีสายน้ำที่ไหลจากผาสูงประมาณ 60 เมตร มาเที่ยวในช่วงฤดูแล้งน้ำค่อนข้างน้อย จินตนาการว่าถ้าช่วงฤดูฝน มีน้ำเยอะกว่านี้คงสวยมาก บริเวณตัวน้ำตกมีก้อนหินขนาดใหญ่ที่จารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เก็บไว้เป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเคยเสด็จมาเที่ยวน้ำตกปาโจ
จุดสนใจอีกอย่างหนึ่งของน้ำตกแห่งนี้คือ ใบไม้สีทอง พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก บางใบใหญ่กว่าฝ่ามือเสียอีก มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งที่โคนใบ และปลายใบ ลักษณะคล้ายวงรีสองอันอยู่ติดกัน ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล สามารถพบเห็นได้บริเวณด้านหน้าของน้ำตก
17.00 น. พักผ่อนยังที่พัก ใจดีจริง จริง
เที่ยวกันมาทั้งวัน เริ่มเหนื่อยล้า เดินทางกลับเข้าไปยังตัวเมือง เพื่อไปยังที่พัก ใจดีจริง จริง ที่พักน่ารักสุดทันสมัย ใจกลางเมืองนราธิวาส ความโดดเด่นของที่นี่คือ การตกแต่งภายในห้องพัก ที่ไม่ซ้ำกันมีทั้งหมด ถึง 9 สไตล์ ทั้ง ห้อง Modern Loft ห้องทะเล ภูเขา ห้องป่าลึก ห้องการ์ตูนอย่าง Mr.Simpson เอาใจผู้ที่ชื่นชอบห้องแบบการ์ตูน แถมมีคาเฟ่ด้านหน้าสำหรับนั่งชิลจิบเครื่องดื่ม ชื่อว่า คาเฟ่ใจใส บอกตามตรงไม่คิดว่านราธิวาสจะมีที่พักทันสมัยเก๋ๆแบบนี้ด้วยน่าจะเป็นเพียงแห่งเดียวที่ออกแนวชิคแบบนี้ เพราะเท่าที่ค้นหาที่พักจะเจอแต่โรงแรมที่สร้างมานาน ในรูปแบบเดิมหรือไม่ก็โรงแรมขนาดเล็กที่ตกแต่งดูธรรมดา
โลเคชั่นของที่พักอยู่ใจกลางเมือง ไม่ไกลจาก ร พ นราธิวาส ห้องพักยังใหม่เพราะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ด้านหน้าที่พัก เป็นที่ตั้งของ คาเฟ่ใจใส ซึ่งตกแต่งในสไตล์ลอฟต์แฝงไปด้วยความเท่ ทั้งปูนเปือย ผนังปูน โต๊ะเก้าอี้ และของประดับต่างๆ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีความเขียวขจีของไม้เลื้อยและไม้แขวนประดับต่างๆ ที่ทำให้บรรยากาศมีความสดชื่นขึ้น ให้บริการทั้งเครื่องดื่ม เบอเกอรี่ รสชาติดี ถึงแม้ไม่ได้มาพัก ก็แวะมานั่งเล่นและจิบเครื่องดื่ม เท่าที่เห็นร้านกาแฟในเมืองนราธิวาส ร้านนี้น่าจะตกแต่งได้ทันสมัยน่านั่งที่สุด
ส่วนห้องพักอยู่ถัดออกไปจากคาเฟ่ เป็นตึกปูนสองชั้น ซึ่งในเวลานี้มีห้องพักให้บริการทั้งหมด 9 ห้อง ให้ลูกค้าได้เลือกตามตีมต่างๆเราเลือกพักห้อง Modern Loft ห้องสะอาดกว้างขวางมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ในราคาแค่คืนละ 700 บาท เท่านั้น ความน่ารักของโรงแรมนี้ใจดีสมชื่อ เพราะมีตู้เย็นส่วนกลางที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้า มีน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และขนม ให้หยิบทานฟรีได้ตลอด
ห้องพักแบบอื่น นำภาพจากเพจของที่พักมาให้ชมกัน หากมาเที่ยวนราธิวาส กำลังมองหาที่พักในราคาไม่แพง ตกแต่งดี สะอาด แนะนำโรงแรมนี้เป็นโรงแรมที่เหมาะมาก
รายละเอียดติดต่อ
ติดตามได้ที่เพจของที่พัก คลิ๊ก ใจดีจริงๆ จริง & คาเฟ่ใจใส นราธิวาส
คาเฟ่ใจใส เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 8:00 – 20:00 น.
19.00 น. ภัตตาคารมังกรทอง
มื้อค่ำเราไปหาอะไรทานกันที่ร้านอาหารเก่าแก่ ที่อยู่คู่ จ.นราธิวาสมายาวนาน บรรยากาศริมน้ำบางนรา ร้านตกแต่งแนวจีนร่วมสมัย ทราบมาว่าเป็นร้านอาหารในเครือเดียวกับร้านมันตราตั้งอยู่ไม่ไกลกัน เมนูจะคล้ายกัน ในส่วนของอาหารไทย และอาหารใต้ แต่ร้านมังกรทองจะเพิ่มในส่วนของเมนูอาหารจีนเข้ามาด้วย
สำหรับเมนูที่ลองสั่งมาทาน จานแรกคือ หมี่แกงไตปลา ที่มาพร้อมกับแกงไตปลาใส่เนื้อปลาสดมาในน้ำแกง รสชาติจัดจ้านถึงเครื่องแกงใต้ ทานคู่กับหมี่ และไข่แดง พร้อมผักเครื่องเคียง เหมือนกำลังทานขนมจีนแกงไตปลา กุ้งผัดซอสมะขาม กุ้งตัวโตทอดกรอบราดน้ำซอสเปรี้ยวหวานละมุนลิ้นมาก ยำผักกูดอีกหนึ่งเมนูไม่ควรพลาดเพราะยำแบบสูตรทางใต้ คือใส่น้ำกระทิลงไปด้วยเหมือนจะเป็นเมนูที่หาทานได้ทั่วไทย แต่ร้านนี้รสชาติแตกต่างเป็นยำผักกูดที่อร่อยมาก ผัดเต้าหู้ทรงเครื่อง เป็นเมนูออกแนวจีนหน่อยๆ ตอนแรกคิดว่ารสชาติจะเหมือนผัดเต้าหู้ที่เคยทานทั่วไป คือ จืดเลี่ยน แต่ไม่เป็นอย่างนั้นกลับกลายเป็นเมนูโปรด ที่ตักทานได้เรื่อยๆ รสชาติกลมกล่อมมาก ช่วยดับความจัดจ้านของเมนูอื่นได้แบบเข้ากัน
ภัตตาคารมังกรทอง
ที่อยู่: อำเภอเมืองนราธิวาส นราธิวาส 96000
เปิดบริการทุกวัน 10.00 – 22.00 น.
โทรศัพท์ 073-511-835
วันที่สอง
ตากใบ สุไหงโกลก สุคิริน
07.30 น. อาหารเช้าร้านดีเด่น
ตื่นเช้ากันสักหน่อย เพราะวันนี้มีเพลนไปหลายที่ บรรยากาศของตัวเมืองนราธิวาสในยามเช้า กับตึกเก่าโบราณสไตล์ชิโนโปรตุกิส ที่เรียงรายบนถนนภูผาภักดี ย่านการค้าใจกลางเมืองนราธิวาส ซึ่งเราผ่านถนนเส้นนี้มาตลอดตั้งแต่วันแรก เพราะเป็นที่ตั้งของร้านอาหารมันตรา มังกรทอง นราธิวาสก็มีมุมเก๋ๆ คลาสสิคให้ถ่ายรูปนะเธอ
เราไปทานอาหารเช้าที่ ดีเด่น เป็นร้านอาหารเช้าแบบไทยสไตล์จีนที่เก่าแก่ในเมืองนราธิวาส เป็นร้านแบบเรียบง่าย ไม่ได้ตกแต่งอะไรมากนัก เน้นอาหารเช้าสไตล์จีนที่มีเมนูให้เลือกเยอะ อย่างเช่น บะกุ๊ดแต๋ ขนมจีบซาลาเปา สตูว์น่องไก่ ข้าวต้ม โจ๊ก ข้าวขาหมู เครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ มีครบ แต่เมนูที่แนะนำต้องสั่ง คือ หมี่ซั่ว ใส่กระดูกอ่อนหมู ที่เส้นหมี่มีความนุ่มละมุนมาก น้ำซุปก็มีความกลมกล่อมแบบไม่ต้องปรุงเพิ่ม
ดีเด่น
ที่อยู่ 232 ภูผาภักดี ตำบลบางนาค นราธิวาส (ข้างๆ แหลมทองอิเล็กทรอนิกส์)
โทร: 073-512-110
09.00 น. วัดชลธาราสิงเห
จากตัวเมืองมุ่งหน้าไปยังอำเภอตากใบ โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที เพื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งในนราธิวาส วัดชลธาราสิงเห หรือ วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยอาคารสถาปัตยกรรมแต่ละหลังมีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก ผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีน ภูมิทัศน์รอบวัดร่มรื่น เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากเป็นโบราณสถานของชาวไทยพุทธที่รัฐบาลไทยได้หยิบยกเป็นเหตุผลอ้างอิง ในการปกปันเขตแดนในปี 2441 ที่มีผลไม่ให้ดินแดนส่วนนี้ถูกผนวกเข้าในเขตของประเทศมาเลเซีย ทำให้ประเทศไทยไม่สูญเสียเอกราชไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงได้สมญานามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
บรรยากาศโดยทั่วไปในวัดชลธาราสิงเห เงียบสงบ เมื่อเข้ามาภายในวัด จะพบกับกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์หรือกุฏิพระครูสิทธิสารวิหารวัตร ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อนกันหลายชั้น มุงกระเบื้องดินเผา บันไดหน้าเป็นบันไดก่ออิฐถือปูน ยอดหลังคาตกแต่งด้วยปูนปั้นลายเครือเถา ภายในมีภาพวัดฝาผนังเก่าแก่งดงาม แต่เดิมเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ต่อมากุฏิพังทลายลง ทางวัดจึงสร้างขึ้นใหม่แต่รูปแบบค่อนข้างต่างไปจากเดิม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานวัดชลธาราสิงเห เพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัดจากภาพถ่ายเก่า
เดินเข้าไปข้างในวัดจะเจอกับศาลาธรรมรุ่นเก่าอีกหลังหนึ่ง เป็นศิลปะปักษ์ใต้ผสมอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนแปลกตา สีสันแบบพาสเทลสวยงาม กลายเป็นมุมถ่ายภาพเก๋ๆอีกจุดหนึ่ง ทั้งผนังของศาลา บานประตู มีการเล่นสีตัดกันอย่างสวยงาม
ถัดไป คือ พระอุโบสถ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนโดยฝีมือพระภิกษุชาวสงขลางดงามมาก และถ่ายทอดรูปแบบชีวิตวัฒนธรรมความเป็น อยู่ท้องถิ่นปักษ์ใต้ น่าเสียดายที่ไม่ได้เข้าไปถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ เนื่องจากวันที่เดินทางมีพิธีบวชนาค
จุดสุดท้ายในวัด ซึ่งเป็นจุดสำคัญคือ พลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์ได้เสด็จประพาสวัดชลธาราสิงเห และได้มีการสร้างพลับพลาริมแม่น้ำตากใบเป็นที่ประทับ ซึ่งทางวัดยังรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์
10.00 น. สะพานคอย 100 ปี เกาะยาว
ไม่ไกลจาก วัดชลธาราสิงเห มีที่ท่องเที่ยวสำคัญใกล้กัน คือ เกาะยาว จากสี่แยกตลาดอำเภอตากใบเลยไปยังแม่น้ำตากใบ มีสะพานไม้ชื่อ “สะพานคอย 100 ปี” ที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาล บรรยากาศสงบ มีทิวมะพร้าวเรียงรายเป็นแนวยาวสวยงาม บรรยากาศร่มรื่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
สะพานคอย 100 ปีมีความยาว 345 เมตร เดิมเป็นสะพานไม้ที่ทอดยาวข้ามผ่านแม่น้ำตากใบจากแผ่นดินใหญ่ไปสู่ เกาะยาว แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานปูนแข็งแรงและสวยงามทอดยาวขนาบไปกับสะพานไม้อันเก่า กลายเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรของชาวบ้าน ชื่อของสะพานมาจากที่ว่าเมื่อก่อนชาวบ้านเกาะยาวจะเดินทางมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอต้องใช้เรือ กว่าจะมีการสร้างสะพานระหว่างเกาะยาวไปยังฝั่งที่ว่าการอำเภอต้องคอยถึง 100 ปี จึงเป็นสาเหตุให้เรียกสะพานดังกล่าวว่า “สะพานคอย 100 ปี”
ระหว่างเดินเล่นบนสะพานปูนจะได้พบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งที่มาเหวี่ยงแหหาปลาและพายเรือจับปลา ภาพชาวบ้านขับมอเตอร์ไซต์ และเดินข้ามเกาะไปมาพร้อมรอยยิ้ม บางคนก็กล่าวทักทายมากจากไหน ประกอบกับวิวของแม่น้ำตากใบ และภาพป่าชายเลนริมฝั่ง ทำให้เรารู้สึกว่านี่เหรอเมืองตากใบ ที่เคยได้ยินข่าวความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง แท้ที่จริงแล้วเป็นอำเภอที่สงบและน่าเที่ยวมาก
เดินข้ามสะพานมาถึง เกาะยาว ซึ่งมีสองฝั่งคือฝั่งที่ติดกับแม่น้ำตากใบ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ของป่าชายเลน ซึ่งการจัดทำสะพานไม้ไผ้ ทอดกลางป่าชายเลน มีต้นโกงกาง ที่มองเห็นรากสวยงามด้านล่าง และมีระเบียงชมวิว ที่สามารถมองเห็นสะพานคอย 100 ปี ทอดยาวกลางน้ำเคียงคู่กับสะพานปูน
อีกฝั่งหนึ่งของเกาะยาวติดกับทะเลอ่าวไทย เป็นเกาะติดกับทะเล ชุกชุมไปด้วยปลากุเลา ที่มีชื่อเสียงของชาวตากใบ มีเสากระโดงเรือสำเภาโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ติดอยู่ที่ต้นไทรกลางเกาะจากบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นว่าครั้งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จผ่านแหลมมาลายู ทรงประทับที่วัดชลธาราสิงเห แวะพักเรือที่เกาะยาวด้วย และที่นี่ยังถือเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีตของเราชาวไทยอีกด้วย
บรรยากาศของทะเลเกาะยาว ซึ่งมีหาดทรายเรียบเนียน มองดูเวิ้งว้างกว้างไกล เหมือนเดินอยูในทะเลทราย ด้านหน้าหาดมีแปลชิงช้า สำหรับนั่งเล่นมองวิว นั่งจินตนาการไปว่า ถ้าฟ้าใสแดดดีกว่านี้ ทะเลคงสวยมาก มองไปบริเวณฝั่งเห็นบ้านของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพทำการประมงและสวนมะพร้าว
ตากใบ ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำปลากุเลาเค็ม ซึ่งเป็นของดีเมืองนราธิวาส เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีปลากุเลาชุกชุม ปลากุเลาตากใบได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งปลาเค็ม ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย เนื่องจากธรรมชาติของปลากุเลาในพื้นที่อำเภอตากใบ เป็นปลา 3 น้ำ ได้แก่ แม่น้ำสุไหงเกนติ้ง ประเทศมาเลเซีย แม่น้ำบางนรา จังหวัดนราธิวาส และแม่น้ำสุไหง-โกลก แห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้บริเวณน่านน้ำของแม่น้ำ 3 สายนี้ จึงอุดมไปด้วยสารอาหารของปลากุเลาที่เป็นปลาหากินตามหน้าดิน ผ่านกระบวนการผลิตตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ค่อนข้างพิถีพิถัน โดยเฉพาะขั้นตอนที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ต้องมีการนวดปลาด้วยขวดแก้วกลม สลับไปกับการตาก เพื่อเนื้อปลาละเอียดนุ่มทั่วถึงกัน ทำให้ปลาเค็มตากใบเนื้อแน่นมีรสชาติอร่อยแตกต่างไปจากที่อื่น หากเราผ่านเข้ามาในเมืองตากใบ จะได้เห็นภาพ ปลากุเลาเค็มหลายขนาด ตากกันหน้าร้านแบบนี้
11.00 น. นัดพบยูงทอง
มาตากใบทั้งที่ต้องไม่พลาดร้านนี้ด้วยประการทั้งปวง นัดพบยูงทอง ร้านอาหารเก่าแก่ของพื้นที่การันตีรสชาติ ด้วยภาพเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงดาราคนมีชื่อเสียงมากมาย ที่ต่างแวะมาทานอาหารที่ร้านนี้ เมนูเน้นอาหารท้องถิ่นแบบใต้ บางเมนูหาทานยากมาก
อาหารแนะนำคือ ปลากุเลาเค็มชื่อดังต้นตำรับของเมืองตากใบ กุ้งต้มกะทิรสชาติกลมกล่อม และเมนูอื่นอย่างเช่น ผัดเผ็ดปลากระพงที่รสชาติเข้มข้นหอมเครื่องแกงแต่ไม่เผ็ดจนทานไม่ได้ ปลากระบอกทอดกระเทียม ที่ปลาตัวใหญ่ มีความหอมของกระเทียมที่ทอดมาอย่างกรอบ ยำมะม่วงใส่มะพร้าวใส่ปลากรอบ เป็นยำแบบใต้ที่ใส่มะพร้าวคั่วและหัวหอมด้วย รสชาติเปรี้ยวหวานกำลังดี เป็นร้านที่อาหารอร่อยทุกอย่าง ใช้วัตถุดิบดีมาก แถมราคาไม่แพง อีกด้วย
นัดพบยูงทอง
ที่อยู่: 162 หมู่ 4 ตำบล เจ๊ะเห อำเภอ ตากใบ นราธิวาส
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.00 น. แนะนำว่าก่อนเดินทางให้โทรมาสอบถามก่อน เพราะบางวันร้านรับทำอาหารตามงานต่างๆ ซึ่งอาจปิดได้
โทร: 073 581 141
ตากใบ เป็นอำเภอที่สร้างความรู้สึกกลัวให้กับเราพอสมควร เพราะชื่อนี้ปรากฎอยู่ในข่าวความไม่สงบหลายครั้ง เป็นอำเภอที่ดูดุดันมาก แต่เมื่อไปถึงก็ไม่มีอะไร เงียบสงบ เราหลงใหลไปกับความงดงามแปลกตาของวัดชลธาราสิงเห ประทับใจรอยยิ้มและอัธยาศัยที่ดีงามของชาวไทยมุสลิมที่เกาะยาว ที่ตากใบเราเห็นมีลวดหนามตั้งอยู่ข้างทางและหน้าบ้านบ้าง แต่นั้นก็เป็นแค่เพียงรั้วหนามที่สร้างกั้นไว้เท่านั้น เมื่อเดินเข้าไปแล้วเจ้าของบ้านกลับเป็นมิตรมาก ก็เหมือนกับความรู้สึกในใจเราที่ถูกปิดกั้นจากความกลัว ถ้าไม่ยอมเปิดใจจะได้รู้มั้ยว่า ตากใบ โคตรน่ารัก ไม่น่ากลัวเหมือนในข่าว เราคงพลาดสถานที่สวยงามและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไป
12.30 น. สะพานไม้เจาะบากง
จากตากใบไปต่อยังอำเภอสุไหงโกลก หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ภาพทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงนั่งพิงรถแลนด์โรเวอร์ รยล244 และได้ประทับนั่งบนสะพานอย่างไม่ถือพระองค์ เชื่อว่าเกือบทุกคนไม่เคยรู้ว่าสะพานนี้อยู่ที่ไหน สะพานไม้แห่งนี้ ชื่อว่า “สะพานไม้เจาะบากง” ตั้งอยู่ที่ บ้านเจาะบากง อ.สุไหงโกลก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้อยู่ในแผนที่ประเทศไทย แต่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจพูดคุยกับชาวบ้าน และตรัสว่า “หมู่บ้านดังกล่าวไม่มีในแผนที่ มีแต่บ้านโคกกูโนและบ้านโคกกูยิที่มีเขตติดต่อกับบ้านเจาะบากง” จากนั้นทรงปักหมุดบ้านเจาะบากงเข้ามาอยู่ในแผนที่ประเทศไทยนับแต่นั้นมา เราเดินทางมายังสะพานแห่งนี้ด้วย google maps เช่นกัน ผ่านเส้นทางชนบทเข้าไปในหมู่บ้าน ถามทางชาวบ้านบ้าง ว่าสะพานไม้นี้อยู่ตรงไหน เพราะรู้สึกค่อนข้างลึกลับ ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ทำให้ย้อนนึกไปถึงที่ว่าเข้าใจเลยว่าทำไมถึงไม่มีอยู่ในแผนที่ และทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่าไกลขนาดนี้พระองค์ก็ยังเสด็จมาถึงได้
ทั้งนี้สะพานเจาะบากงเดิม ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ก่อนที่จะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะเดียวกันบนสถานที่เดิม เพื่อรื้อฟื้นภาพความทรงจำครั้งประวัติศาสตร์ในอดีตให้หวนกลับคืนมา แต่ก่อนสะพานนี้มีการนำรถจำลองที่คล้ายกับรถของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งไว้บนสะพานสำหรับถ่ายภาพด้วย แต่ปัจจุบันรถดังกล่าวได้นำออกไปแล้ว ถึงแม้เราจะเกิดไม่ทันในช่วงเวลานั้น แต่มาด้วยความรู้สึกว่า อยากตามรอยภาพถ่ายที่แสนประทับใจ และพอได้ทราบว่าสถานที่แห่งนี้ อยู่ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีเพลนการเดินทางไปเที่ยวอยู่แล้ว จึงมีความตั้งใจว่าต้องแวะมาให้ได้ ถึงแม้จะดูเป็นสะพานไม้ธรรมดาที่เห็นได้ตามต่างจังหวัด แต่เรื่องราวที่น่าประทับใจที่เกิดขึ้นบนสะพานแห่งนี้ ทำให้ความรู้สึกที่ได้เดินบนสะพาน ไม่ธรรมดา เป็นความดีใจและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก
13.30 น. ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร
ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร หรือ ป่าพรุโต๊ะแดง เป็นป่าพรุที่มีเนื้อที่และอุดมสมบรูณ์มากที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ ในอำเภอสุไหงโกลก ป่าพรุแห่งนี้ถือ เป็นผืนสุดท้ายของภาคใต้ทีมีความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติร่มรืนย์ มีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ ความหลากหลายทางพันธุกรรม พันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าดงดิบที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าและพรรณไม้ โดยมีลำน้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน ได้แก่ คลองสุไหงปาดี แม่น้ำบางนรา และคลองโต๊ะแดง อันเป็นที่มาของชื่อป่านั่นเอง เป็นป่าพรุที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงสนพระทัยและทรงงานวิจัยป่าพรุด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จมาทรงงานยังป่าพรุโต๊ะแดงหลายครั้ง จนคนนราธิวาสยกป่าพรุโต๊ะแดงให้เป็นของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ และเรียกป่าพรุแห่งนี้ว่า “ป่าพรุสิรินธร”
จากสะพานไม้เจาะบากง ประมาณ 20 นาที ก็มาถึงพื้นที่ของป่าพรุสิรินธร เมื่อมาถึงลานจอดรถ จะพบกับบ้านพักที่ทำการของเจ้าหน้าที่ ตั้งเรียงรายด้านหน้า ท่ามกลางความเขียวขจีของพันธุ์ไม้นานาชนิด ด้านหลังจัดทำเป็นลานระเบียง สระน้ำเป็นสระบัวในป่าพรุขนาดย่อม
จากนั้นข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นที่ทำการของป่าพรุสิรินธร เดินทะลุอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 45 – 60 นาที เป็นสะพานไม้ทอดยาวกลางป่าพรุ
ภายในพื้นที่มีการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม และลานระเบียง จุดนั่งพักผ่อนชมวิว มีป้ายข้อความ “พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน” ซึ่งแสดงถึงตัวตนอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผืนป่าพรุแห่งนี้
ป่าพรุ เกิดจากแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันอย่างยาวนาน ดินในป่าพรุ เป็นดินพรุ หรือ ดินอินทรีย์ ที่เกิดจากสะสมตัวของซากอินทรีย์วัตถุ เช่น เศษไม้ ใบไม้ ซากพืชที่ตายแต่ยังไม่สลายตัว ทับถมกันอยู่อย่างหลวมๆเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นชั้นหนาปกป้องพื้นดินเดิม น้ำในป่าพรุ เป็นน้ำแช่ขังตลอดทั้งปี การไหลเวียนของน้ำเป็นไปอย่างเชื่องช้า เป็นน้ำที่มีอินทรียวัตถุย่อยสลายจึงมีความเป็นกรดอ่อน มีสีน้ำตาลคล้ายน้ำชาที่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลานั้นมีอยู่มากมาย เช่น ปลาช่อน ปลากะสง ปลาไหล ปลาดุกลำพัน และที่พิเศษคือ “ปลากะแมะ” ปลาชนิดใหม่ที่ค้นพบที่ป่าพรุแห่งนี้
ป่าพรุโต๊ะแดงมีไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ประกอบด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย พืชล้มลุก นอกจากนี้ก็ยังมีพืชพันธุ์น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย บริเวณสองข้างทางเดินจะพบต้นไม้หลากชนิด บางชนิดลำต้นขนาดเท่าข้อมือยาวเลื้อยไปเกาะไม้ยืนต้น บางชนิดลำต้นสูงมีรากประหลาดโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินพื้นน้ำ เหมือนป่าลึกลับในเทพนิยาย ระหว่างทางจะมีฐานให้ความรู้ พร้อมป้ายสื่อความหมายให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชพันธุ์ไม้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็งเส้นทางเดินชมอย่างสวยงาม ร่มรื่น เขียขจีมองดูสบายตา ได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าร้องส่งเสียงคอยต้อนรับตลอดเวลา เดินชมถ่ายภาพไปสร้างความเพลิดเพลินได้อย่างมากมาย
ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร
ตั้งอยู่ที่ ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00 – 15.30 น. โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 098-010-5736
15.30 น. สุคิริน
สุคิริน ตั้งอยู่ทางตอนล่างใต้สุดของจังหวัดนราธิวาส ห่างจากตัวเมืองประมาณ 120 กิโลเมตร มีพื้นที่เป็นป่าและภูเขาโอบล้อมรอบ สุคิริน เป็นดินแดนอันสวยงามและอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ รายล้อมด้วยเทือกเขาเขียวขจีที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ พันธุ์ไม้อันหนาแน่นของผืนป่าบาลา-ฮาลา ทำให้มีสภาพอากาศที่บริสุทธิ์ เย็นสบายตลอดทั้งปี ยามเช้ามีสายหมอกคลอเคลียขุนเขาและปกคลุมเมือง
พื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองสุคิริน ชื่อ “สุคิริน” เป็นนามพระตำหนักที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า โปรดเกล้าพระราชทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส การรับเสด็จในครั้งนั้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่นิคมฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จประทับ ณ เรือนรับรองของนิคมฯ ซึ่งเป็นอาคารเล็กๆ จึงไม่สะดวกที่จะให้สมาชิกนิคมฯ เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานการช่วยเหลือ จึงมีการสร้างพระตำหนักเพื่อใช้เป็นที่ประทับระหว่างทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ “สุคิริน” มีความหมายเป็นสิริมงคลว่า “พันธุ์ไม้อันเขียวชอุ่ม” ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ และพืชพรรณไม้นานาชนิด ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ ซึ่งจะต่างกับอำเภออื่นในนราธิวาส ที่จะเป็นชาวไทยมุสลิม เมื่อเริ่มเข้าสู่ตัวอำเภอจะเริ่มเห็นบ้านเรือนผู้คน สถานที่ราชการ โรงพยาบาล สถานีอนามัย ถึงแม้จะเป็นอำเภอที่เรียกได้ว่าสุดชายแดนของนราธิวาส แต่ไม่ได้ห่างไกลความเจริญ ยังมีร้านค้า ร้านอาหารเล็กๆตลอดทาง มีเซเว่น มาเปิดด้วย นั่งรถผ่านอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก บรรยากาศระหว่างทางจะมีความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนของผู้คน แต่เมื่อเข้าเขตอำเภอสุคิรินบรรยากาศเปลี่ยนทันที ความเขียวขจีเริ่มปรากฎให้เห็น ต้นไม้ระหว่างทางอุดมสมบูรณ์และหนาแน่นมาก สมแล้วที่เป็นชุมชนใจกลางผืนป่าบาลา-ฮาลา
มาถึงที่พักประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง ที่ สายธารทอง ที่พักเพียงหนึ่งเดียวในสุคิริน ให้บริการทั้งห้องพักและบริการรถนำเที่ยวตามจุดต่างๆ บรรยากาศกว้างขวางร่มรื่น และข้างหลังที่พักติดกับลำธารต้นกำเนิดของแม่น้ำสายบุรี ห้องพักมีหลายแบบทั้งแบบเป็นหลัง แบบห้องแถวติดกัน แบบบ้านเป็นตึก และบ้านหลังใหญ่สำหรับหมู่คณะ มีความสะดวกสบาย สิ่งอำนวยความสะดวกครบ ทั้งแอร์ ทีวี ตู้เย็น มี wifi ด้วยในราคาแค่หลักร้อย เราเลือกพักบ้านพักแบบตึก ซึ่งตั้งอยู่ด้านในสุดของรีสอร์ท ราคาคืนละ 600 บาท มีระเบียงเปิดออกไปสำหรับชมวิว
ตามที่บอกว่า สายธารทองรีสอร์ท เป็นที่พักเจ้าเดียว ที่ให้บริการนำเที่ยวสุคิรินแบบครบวงจร มีรถให้บริการรับส่งถึงสนามบิน และตามจุดต่างๆ หลายคัน ในราคามิตรภาพ เพราะฉะนั้นจึงเบาใจได้ในเรื่องของการเดินทาง และปลอดภัยแน่นอน เพราะมีคนในพื้นที่นำเที่ยว เราใช้บริการรถนำเที่ยวจากที่พักโดยเริ่มจากสุคิริน นำเที่ยวตามจุดต่างๆตามโปรแกรม ซึ่งปกติคิดราคาวันละ 1000 บาท แต่เราเริ่มโปรแกรมวันแรกเกือบบ่ายแล้ว อีกวันไปชมหมอกตอนเช้า และพระตำหนัก เจ้าของที่พักใจดีคิดราคาแค่เพียงวันเดียว
พักผ่อนกันสักครู่ จึงเริ่มต้นโปรแกรมท่องเที่ยวในสุคิริน จุดแรก คือ ชมต้นกระพงยักษ์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่พักประมาณ 22 กม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที ระหว่างทางที่นั่งรถมีแต่ความเขียวขจีหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ เคยเห็นภาพถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าบาลา-ฮาลา ในจังหวัดนราธิวาสมานาน ไม่คิดว่าจะมีโอกาสสัมผัสภาพนั้นด้วยตัวเอง มีความสดชื่นร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์มาก
จากปากทางเดินเท้าแค่เพียงแค่ 400 เมตร ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ผ่านลำธารและผืนป่าที่ปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์มีพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นเขียวขจี ก็จะได้พบกับ ต้นกระพงษ์ยักษ์ หรือ ต้นสมพง มีขนาดเส้นรอบวงของลำต้น ประมาณ 25 เมตร สูง 30 เมตร หรือ ถ้าใช้คนจับมือแล้วยืนล้อมลำต้นโดยรอบ ต้องใช้คนประมาณ 27 คนโอบ
นอกจากจะตื่นตา ตื่นใจไปกับต้นกระพงษ์ยักษ์แล้ว ยังมีความอะเมซิ่งจากพันธุ์ไม้แปลกๆใกล้เคียง ที่สามารถถ่ายรูปได้อย่างสนุกสนาน ทั้งเถาวัลย์ยักษ์ และม่านไม้ที่ห้อยลงมาอย่างสวยงาม บ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้
จากต้นกระพงษ์ยักษ์ เดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 100 เมตร จะได้พบกับน้ำตกขนาดเล็ก ที่มีความใสสะอาด นั่งพักผ่อน ฟังเสียงนกเสียงไม้ สัมผัสบรรยากาศเย็นสบายจากผืนป่ากันสักครู่
ประมาณห้าโมงเย็น รถนำเที่ยวพาเราไปยังจุดต่อไปที่ วัดพระธาตุภูเขาทอง สถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องชาวไทยพุทธ อีกแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอสุคิริน เป็นวัดที่สร้างอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและภูเขาที่อุมดมสมบูรณ์ ในยามเช้านักท่องเที่ยวจะได้เห็นทะเลหมอก ณ จุดชมวิว รับลมเย็นที่ผ่านเข้ามาสัมผัสกับลำตัว และในยามเย็นที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่งดงามมาก
บริเวณวัดพระธาตุภูเขาทอง กว้างขวาง วิวสวยมากเพราะห้อมล้อมด้วยภูเขา มีการจัดทำระเบียงชมวิว สำหรับชมสายหมอกในยามเช้า
ในพื้นที่ของวัด ยังมีบ้านพักหลังใหญ่ประมาณ 3 หลัง ซึ่งใช้เป็นที่พักสำหรับผู้ที่มาปฎิบัติธรรม และเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้ามาพักด้วย แต่การเดินทางมาพักที่นี่หากไม่มีรถส่วนตัวจะยากสักหน่อย เพราะไม่มีบริการรถรับส่ง ต้องนั่งรถโดยสารมาถึงสุคิริน และให้รถโดยสารเข้ามาส่งซึ่งต้องต่อรองในเรื่องของราคาเพิ่มว่าจะคิดเท่าไหร่และจะมาส่งมั้ย เพราะจากตัวอำเภอสุคิรินมาที่นี่จะค่อนข้างไกล ใช้เวลาเดินทางเกือบชั่วโมง หรือถ้าให้สะดวกสามารถใช้บริการรถของสายธารทอง รีสอร์ทให้มาส่งพร้อมนำเที่ยวได้ สำหรับใครที่ต้องการพักที่บ้านพักวัดพระธาตุ ภูเขาทอง ติดต่อได้ที่โทร 081 766 4954
จากวัดพระธาตุภูเขาทอง มาถึงจุดท่องเที่ยวสุดท้ายของวันนี้ ที่ จุดสกัดภูเขาทอง เพื่อไปชมอุโมงค์ลำเลียงแร่ทองคำในสมัยก่อน ปัจจุบันหลงเหลือเพียงอุโมงค์ให้เห็น ไม่มีการขุดแร่ทองคำแล้ว ซึ่งพื้นที่ของสุคิรินในอดีตเคยมีชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนขึ้นฝรั่งเศสได้หนีภัยสงคราม จึงทิ้งเหมืองแร่ทองคำ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมาเป็นผู้ดำเนินการเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวแทน ประมาณปีเศษเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในบริเวณเหมืองแร่ทองคำ และต่อมาได้ล้มเลิกกิจการไป ยังคงเหลือไว้แค่เพียงร่องรอยในอดีตที่ให้ชนรุ่นหลังได้เข้าไปชมและเรียนรู้ มองลงไปบริเวณสายน้ำยังเห็นเกล็ดของทองส่องระยิบระยับ
มื้อค่ำที่สุคิริน มุ่งหน้าไปยังร้าน แซ่บผ่านหมอก ตามคำแนะนำของเจ้าของที่พัก แว่บแรกที่เห็น คือ ไม่คิดว่าสุคิรินจะมีร้านอาหารที่ขายอาหารเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ บรรยากาศดี มีเมนูหลากหลาย ทั้งอาหารไทย อาหารพื้นถิ่น อาหารอีสาน อาหารทะเล ในราคาไม่แพง เราสั่งอาหารมาประมาณ 5 อย่าง ทั้งยำปลาช่อนซึ่งทำคล้ายปลาช่อนลุยสวน ปลาทับทิมทอดทานกับยำน้ำบูดูและผักเครื่องเคียง ส้มตำปลาร้าปูม้าตัวโตมาก ไข่เจียวคอนโดมาเป็นชั้น และต้มยำไก่บ้าน เมนูอาหารรสชาติอร่อยวัตถุดิบดี อาหารจานใหญ่ปริมาณเยอะทานกันจนอิ่มท้องมาก
วันที่สาม
ทะเลหมอกผานับดาว สุคิริน
05.00 น. ทะเลหมอกผานับดาว
เช้าวันใหม่ตีห้า คือ เวลานัดหมายเพื่อไปชมทะเลหมอก จุดชมทะเลหมอกที่สุคิรินมีอยู่ 2 จุด คือ ผานับดาว และที่วัดพระธาตุภูเขาทอง แต่ที่ผานับดาวเป็นจุดชมทะเลหมอกที่เรียกว่า มีความเป็นทะเลหมอกที่แท้ทรู ส่วนที่วัดพระธาตุภูเขาทอง จะเป็นลักษณะสายหมอกบางคลอเคลียตามหุบเขา เราเลือกไปชมทะเลหมอกที่ ผานับดาว ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาทีผ่านเส้นทางออฟโรด เมื่อมาถึงจุดจอดรถจะต้องเดินเท้าไปอีกประมาณ 800 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เส้นทางเดินเป็นลักษณะดินแดงผสมกับหิน เป็นเส้นทางไม่โหดมาก เดินขึ้นเนินไปเรื่อยๆ ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว หรือสูงวัย เดินได้ เหมือนกำลังเดินขึ้นภูชี้ฟ้า แต่ก่อนถึงจุดชมวิวสุงสุด มีความชันเล็กน้อยต้องจับเชือกเดินขึ้นไป แต่ก็ไม่ยากจนเหนือบ่ากว่าแรง คำแนะนำ รองเท้าที่ใส่มา ควรเป็นรองเท้าผ้าใบที่ไม่ลื่นมาก
หมายเหตุ : ในช่วงฤดูฝนการไปเที่ยวผานับดาว ต้องประเมิณสถานการณ์วันต่อวัน ว่าถนนจะขึ้นได้มั้ย เพราะเป็นเส้นทางออฟโรด หากฝนตกถนนลื่นมาก รถขึ้นไม่ได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปชมทะเลหมอกที่วัดพระธาตุภูเขาทองแทน
เดินขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดชมวิวสูงสุดของ ผานับดาว มองเห็นวิวทะเลหมอกที่อยู่ตรงหน้า ต้องร้องว้าวแบบไม่เชื่อสายตา นี่เหรอภาพของ นราธิวาส ที่หลายคนกลัวไม่กล้ามาเที่ยว แม้แต่ในช่วงฤดูร้อน ทะเลหมอกยังแน่นขนาดนี้ ไม่จำเป็นว่าต้องมาเที่ยวในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ฤดูร้อนก็สวย เพราะเป็นทะเลหมอกที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ เพียงแต่ฤดูฝนไม่แนะนำเพราะเส้นทางรถขึ้นออฟโรดมาก จะไม่สามารถขึ้นมาได้ ยืนชมทะเลหมอกยามเช้า รอพระอาทิตย์ขึ้น ตอนนี้แสงสีทองค่อยๆปรากฎมาทักทายเราทีละน้อย
บนยอดผานับดาว สามารถกางเต้นท์ได้ แต่ต้องเตรียมอุปกรณ์มาเองทั้งหมด ไม่มีห้องน้ำ ตอนขึ้นไปเจอคนในพื้นที่ขึ้นมานอนกางเต้นท์ด้วย น้องบอกว่าวันนี้ทะเลหมอก ยังไม่เยอะมาก ปกติจะลอยขึ้นมาปกคลุมยอดเขาจนเกือบจะถึงจุดชมวิวเลยทีเดียว แต่สำหรับเราโดยส่วนตัวชอบทะเลหมอกแบบที่มองเห็นทิวเขาด้วยมากกว่า มันมีความเป็นเลเยอร์ชัดเจนดี
ทะเลหมอกที่ผานับดาว จะเป็นแบบพาโนรามา กว้างไกลมาก มีความสวยงามและลงตัวของสายหมอกขาว ทิวเขาและ ผืนป่าสีเขียว เสียงชัตเตอร์ดังในมุมเดิมๆ กดไปก็คิดว่าเราจะถ่ายทำไมในมุมเดิมอยู่ได้ คือ มันสวยจนอยากบันทึกความทรงจำไว้แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
จากจุดชมวิวสูงสุด จะมีทางเดินลงไปข้างล่างอีกนิดนึง ระหว่างรอพระอาทิตย์ขึ้นเราเดินลงไป ก็จะพบกับก้อนหินก้อนนึง สามารถยืนโพสต์ท่าเท่ห์ๆได้อีก วิวทะเลหมอกจะเหมือนกับจุดชมวิว แต่รู้สึกเหมือนได้ใกล้ทะเลหมอกมากกว่า
แสงทองเริ่มสาดแสง เราเลือกเก็บภาพความประทับใจตรงจุดนี้ ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีคำบรรยายใด นอกจากคำเดียว คือ สวย นี่เหรอจังหวัดที่หลายคนกลัว ทำไมเราไม่รู้สึกแบบนั้นเลย
เราลงมารับประทานอาหารเช้าในตัวอำเภอสุคิริน ในยามเช้าตัวอำเภอถูกปกคลุมไปด้วยสายหมอกบาง แวะถ่ายภาพสะพานแขวนที่อยู่ระหว่างทาง นั่งพักชมวิวแม่น้ำ
น้องคนขับพาเรามายัง อนุสาวรีย์เครื่องจักรกล ที่ตั้งอยู่ติดกับพระตำหนักสุคิริน เป็นอนุสาวรีย์ที่แปลก เพราะเป็นการนำรถไถดินมาวางไว้ สื่อความหมายว่า เจ้าคันนี้แหละคือเครื่องจักรที่ลุยทางบนเขาตัดถนนจนกลายมาเป็น เมืองสุคิริน ที่เข้าถึงง่ายและสวยงาม ในทุกวันนี้
นอกจากพระตำหนักดอยตุง เชียงราย ที่มีพระตำหนักสมเด็จย่าที่ท่านใช้สำหรับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานและพักผ่อนส่วนพระองค์แล้ว ยังมี พระตำหนักสุคิริน ที่ทำให้เราได้ระลึกถึงท่าน แต่เดิมนั้นสถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จย่า เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอสุคิริน ปัจจุบันนิคมสร้างตนเองสุคิริน ได้พัฒนาซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์พระตำหนักสุคิรินให้มีความสวยงาม แต่ก่อนเข้ามาชมพระตำหนัก ต้องติดต่อกับทางนิคมล่วงหน้าเพื่อเข้าไปชมภายในพื้นที่ก่อน ซึ่งสามารถแจ้งทางรีสอร์ทให้ติดต่อล่วงหน้าไว้ก่อนได้
หน้าพระตำหนัก มีอนุสาวรีย์ของสมเด็จย่า ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่พระตำหนักสร้างเหมือนบ้านคนธรรมดา ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าถึงแม้พระองค์เป็นถึงพระมารดาของพระมหากษัตร์ย์ แต่บ้านพักของท่านนั้นเรียบง่ายมาก มองบรรยากาศโดยรอบเห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร 9 ที่กำลังโอบกอดสมเด็จย่า มีความรู้สึกตื้นตันใจและคิดถึงรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาของทั้งสองพระองค์ จบทริปการเดินทางเที่ยวสุคิริน ที่เวลาประมาณ 9 โมงเช้า กลับที่พักเก็บสัมภาระเพื่อเตรียมเดินทางต่อ
10.30 น. ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ
ก่อนเข้าเมืองนราธิวาส จากสุคิริน จะผ่านสุไหงโกลกอีกรอบ เราแวะไปที่ ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ สถานที่สำคัญอันเป็นที่นับถือของชาวสุไหงโกลกและชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวจีนในมาเลเซีย ที่พากันเดินทางมาสักการะเป็นประจำ ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนเจริญเขต ในเขตเทศบาลตำบลสุไหงโกลก เดิมทีเจ้าแม่โต๊ะโมะนี้ประดิษฐานอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน ต่อมาชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอสุไหงโกลก ทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่บริเวณศาลเจ้า ตรงกับวันที่ 23 เดือนสามของจีน (ประมาณเดือนเมษายน) ในงานจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น มีการจัดขบวนแห่เจ้าแม่ ขบวนสิงโต ขบวนเองกอ ขบวนกลองยาว และยังมีการลุยไฟด้วย
12.00 น. หาดนราทัศน์
จากนั้นเข้าเมืองไปยัง หาดนราทัศน์ ตั้งอยู่ในตัวเมืองนราธิวาส เป็นชายหาดที่มีความสวยงาม โค้งหาดยาวต่อเนื่องประมาณ 5 กิโลเมตร มองเห็นได้ไกลจนสุดลูกหูลูกตา จรดกับปลายแหลมปากแม่น้ำบางนราทางทิศใต้ เป็นหาดที่มีความสวยงาม หาดทรายขาว ร่มรื่นด้วยทิวสนมากมาย อีกทั้งยังมีลมพัดเย็นบรรยากาศเป็นส่วนตัว ทำให้หาดนราทัศน์เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองนราธิวาส และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเสมอ ยังมีหมู่บ้านชาวประมงตั้งกระจายเป็นระยะ ๆ ชายหาดช่วงที่อยู่ด้านหน้าหมู่บ้านจะมีเรือนกอและจอดเรียงรายอย่างสวยงาม โดยเฉพาะลักษณะของเรือกอและที่มีการวาดลวยลายอันวิจิตร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวใต้ ริมหาดนี้ยังมีร้านอาหารเรียงรายอยู่หลายร้าน มื้อเที่ยงจึงเหมาะสำหรับมานั่งทานอาหารก่อนกลับกรุงเทพ
13.30 น. ชมเรือกอแระ หาดหน้าทอน
หากพูดถึงนราธิวาส ต้องนึกถึง เรือกอและ สัญลักษณ์อันมีชื่อเสียงของจังหวัด อยากเห็นเรือกอและสวยๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมหาด ต้องไปชมที่ หาดบ้านทอน ซึ่ง ตั้งอยู่ตำบลโคกเตียน ห่างจากตัวเมืองตามเส้นทางนราธิวาส ประมาณ 16 กิโลเมตร หาดบ้านทอนเป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิม ประกอบอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน และเป็นแหล่งผลิตเรือกอและ ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงแห่เดียวในนราธิวาส ก่อนไปยังสนามบิน จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางจึงมุ่งหน้าไปยัง หาดบ้านทอน เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินนราธิวาส ห่างกันแค่เพียง 3 กิโลเมตร
หาดบ้านทอน มีชายหาดทอดยาว ทรายขาวสะอาดสวยสะดุดตา บรรยากาศเงียบสงบ น้ำทะเลสีฟ้ามีความใสในระดับหนึ่ง มีความร่มรื่นของต้นมะพร้าวสูงขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายกลายเป็นร่มเงาที่สร้างความสวยงามให้แก่ชายหาด ความโดดเด่นของชายหาด คือ เรือกอและที่จอดเรียงรายริมหาดหลายลำ มีลวดลายสวยงามสะดุดตา นอกจากนี้จะได้สัมผัสกับวิถีประมงที่เรียบง่าย เห็นชาวบ้านนั่งซ่อมเรือ เก็บแหและอุปกรณ์ทำประมงต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ชายหาดแห่งนี้ที่ยังมีวิถีชาวเลแบบดั้งเดิมให้ได้เห็น
เรือกอและ มีลวดลาย สวยงาม ประณีตละเอียดละอ่อน เป็นสิ่งที่สะท้อนความภาคภูมิใจ ที่จะบอกให้แก่ผู้มาเยือนรู้ว่า ที่นี่คือดินแดนของชาวไทยมุสลิมผู้มีพื้นฐาน ในการเขียนลวดลายบนลำเรืออันเป็นเอกลักษณ์มาช้านาน ลวดลายบนลำเรือกอและ เป็นการผสมผสานระหว่างลายมาลายู ลายชวาและลายไทย โดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มากที่สุด เช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำ บัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหิรเวหา รวม ทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น “บุหรงซีงอ” สิงหปักษี (ตัวเป็นสิงห์หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลาไว้ ที่หัวเรือ) เชื่อกันว่ามีเขี้ยวเล็บและมีฤทธิ์เดชมาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่โบราณ
งานศิลปะบนลำเรือเปรียบเสมือนวิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น และเป็นศิลปะเพื่อชีวิต เพราะเรือกอและมิได้อวดโชว์ความอลังการของลวดลายเพียงอย่างเดียว ทว่ายังเป็นเครื่องมือในการจับปลา เลี้ยงชีพของชาวประมงด้วย กล่าวกันว่าลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและหาปลา ก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า ความนิยมในการวาดลวดลายข้างลำเรือให้วิจิตรตา นับวันจะยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันเรือกอและจำลอง เป็นสินค้าของที่ระลึกที่มีคุณค่าสำหรับผู้มาเยือนบ้านทอน และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ พื้นบ้านมาเลเซีย ซึ่งได้สั่งซื้อเรือกอและจำลองเข้ามามากจนชาวบ้านผลิตไม่ทัน จนต้องมีการสั่งจองล่วงหน้า
นอกจากเรือกอและจำลอง และเสื่อกระจูดแล้ว บ้านทอนยังมีการผลิตหัตถกรรมพื้นบ้านอื่นๆอีก อาทิ การทำกรงนกเขา และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งอาหารพื้นบ้าน ที่มีชื่อเสียงของบ้านทอน เช่นน้ำบูดู ซึ่งเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา มีรสชาติอร่อยถูกปาก ผ่าน กรรมวิธีในการผลิตที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ปราศจากวัตถุกันเสีย ข้าวเกรียบปลา ทำจากปลาหลาย ชนิดตามแต่ต้องการแล้วนำไปบดรวม หั่นเป็นแผ่นบางๆตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปทอดกับน้ำมัน รับประทานได้หลายโอกาส เหมาะที่จะซื้อหาเป็นของฝาก ของที่ระลึก
15.00 น. ไปยังสนามบินนราธิวาส กลับกรุงเทพด้วยสายการบินไทยสมายด์เวลา 16.30 น.
3 วัน 2 คืน เป็นการเดินทางเที่ยวนราธิวาส แบบอัดแน่นมาก สมกับการรอคอยมานาน ให้คุ้มค่ากับความรู้สึกกลัว ที่ตอนนี้ได้ถูกปลดล๊อคออกไปหมดแล้ว กลายเป็นความรู้สึกว่า เป็นเมืองน่าเที่ยวมาก ที่เที่ยว ที่กิน ที่พักพร้อม ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกว่ายากที่จะมาเที่ยวเลย เรามาเที่ยวเอง มีแค่ google maps นำทางก็ไปเที่ยวได้หมดตามที่อยากไป สิ่งที่ยาก คือ การเปลี่ยนความคิดของหลายคน และความกลัวที่มีต่อจังหวัดนี้ต่างหาก จากรีวิวที่เล่าไป ให้ลองตัดสินใจกันเอง ว่าเราอยากพลาดสถานที่สวยงามที่ครบเครื่องทุกเรื่องแบบนี้กันหรือไม่ ถ้าชอบ ถ้าอยากมาเที่ยว แค่ปลดล๊อคความกลัว ความคิดว่าไกลออกไป แค่นั้นก็มาได้แล้ว เที่ยวนราธิวาสไม่ยาก อย่างที่คิด
รายละเอียดเพิ่มเติม
การเดินทางไปนราธิวาส
การเดินทาง โดยเครื่องบิน
สายการบินแอร์เอเชีย และไทยสไมล์ บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ – นราธิวาส วันละ 2 เที่ยว จากกรุงเทพ มี 2 เวลา สายการบินแอร์เชียถึงเวลา 12.30 น. และไทยสมายถึงเวลา 16.30 น. ขากลับแอร์เอเชียออกจากนราธิวาสเวลา 12.30 น. ไทยสมายเวลา 16.30 น. ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 1200-1600 บาท แล้วแต่ช่วงเวลาการจอง จากสนามบินมีรถโดยสารให้บริการไปส่งยังอำเภอหลักๆได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก สำหรับรายละเอียดราคาและเส้นทางสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://bit.ly/2HO9Bav
รถไฟ
มีรถไฟเส้นทางกรุงเทพ สุไหงโกลก ลงสถานีรถไฟสุไหงโก ลก (รถไฟไม่จอดในตัวเมืองนรา) จากนั้นสามารถเดินทางโดยรถประจำทางหน้าสถานีรถไฟสุไหงโกล เพื่อไปยังอำเภอต่างๆ ได้ ทั้งในอำเภอเมือง และอำเภอตากใบ
รถทัวร์
มีรถทัวร์โดยสารมายังจังหวัดนราธิวาส ขึ้นรถที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ได้แก่ ปิยะรุ่งเรือง สยามเดินรถ สามารถเช็คเวลาการเดินทางได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง หรือจองตั๋วออนไลน์ในเว็บจองตั๋วรถออนไลน์ต่างๆ
สำหรับใครที่จะเช่ารถขับเองนั้นขณะนี้ ยังไม่มีบริการรถเช่าที่จังหวัดนราธิวาส หากต้องการใช้รถส่วนตัวต้องเช่ามาจากจังหวัดอื่นแล้วขับมาเองอย่างเช่น จากหาดใหญ่ ยะลาหรือปัตตานี แต่ที่นราธิวาสมีบริการรถตู้นำเที่ยวให้เช่าพร้อมคนขับโดยคิดราคาวันละ 2500 บาท (รวมน้ำมันแล้ว)เหมาะสำหรับเที่ยวเป็นหมู่คณะ หรือไม่หมู่คณะแต่ไม่ติดเรื่องงบประมาณ เน้นความสะดวกเพราะมีคนในพื้นที่ขับพาเที่ยว ราคานี้เน้นพาเที่ยวในตัวเมืองและอำเภอตากใบ สุไหงโกลก ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหลักส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในสามอำเภอนี้ ส่วนอำเภออื่นต้องสอบถามราคาอีกครั้ง สามารถติดต่อได้ที่บริษัทดี ดี ทัวร์ ซึ่งให้บริการรถโดยสารรับส่งจากสนามบินและรถตู้นำเที่ยวในนราธิวาสโดยตรง โทร 089 655 0557 (พี่ดี)
การเดินทางในนราธิวาสแบบไม่ใช้รถส่วนตัว
สำหรับคนที่ไม่มีรถส่วนตัว ต้องการประหยัดงบ มาน้อยคน ไม่อยากเช่ารถตู้ อยากเดินทางมาเที่ยวนราธิวาส ก็เที่ยวได้ไม่ยาก มาถึงเมืองนราธิวาส มีรถสองแถวโดยสารวิ่งรอบเมือง รวมทั้งมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่จอดตามสถานที่หลักในตัวเมือง อยากไปตรงจุดไหนสามารถใช้บริการรถสองแถวหรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างได้ หรือหากอยากเที่ยวเพิ่มที่ห่างออกจากตัวเมืองไป เช่น มัสยิด 300 ปี น้ำตกบาโจ หาดบ้านทอน ต้องเหมารถไปเท่านั้น ลองเจรจากับสองแถวได้ว่าเหมาไปตรงนั้นนี้จะคิดราคาเท่าไหร่
อำเภอตากใบ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมืองนรา มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือ วัดชลธาราสิงเห และสะพานคอยร้อยปี ซึ่งสถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ใกล้กัน การเดินทางสามารถนั่งรถสองแถวโดยสารจากตัวเมือง คิวรถอยู่ที่สถานีขนส่งนราธิวาส รถจะไปจอดที่สี่แยกตากใบ จากนั้นเดินมาที่สะพานคอยร้อยปี และวัดได้ ระยะทางประมาณ 500 เมตร หรือจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง จากสี่แยกตากใบมาก็ได้
อำเภอสุไหงโกลก มีรถสองแถวโดยสารเช่นกัน โดยคิวอยู่ที่สถานีขนส่งนราธิวาส แต่รถสองแถวจะเข้าไปยังตัวเมืองสุไหงโกลกเท่านั้น จะไม่ผ่านสะพานไม้เจาะบากง และป่าพรุสิรินธร หากต้องการเดินทางมาเที่ยว ต้องเจรจาแบบเหมาไปเท่านั้น
ที่พักนราธิวาส
ที่พักในตัวเมืองนราธิวาสมีหลายแห่ง ทั้งโรงแรมใหญ่ อย่างเช่น โรงแรมอิมพิเรียล โรงแรมตันหยง จะค่อนข้างสะดวกในการเดินทางเพราะอยู่ใจกลางเมือง และที่พักแบบรีสอร์ทขนาดเล็กก็มีหลายแห่ง ลองค้นหาในกูเกิ้ลและเลือกตามใจชอบ หรือจะใครชอบที่พักแนวชิค มีคาเฟ่เก๋ ก็พักที่ใจดีจริง จริง ตามในริวิวได้เลย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเดินทางสะดวกเช่นกัน นอกจากนี้ในอำเภอสุไหงโกลก ก็มีที่พักมากมาย เผื่อใครสนใจอยากค้างในอำเภอนี้ ราคาที่พักโดยรวมของนราธิวาสไม่แพงจะอยู่ที่หลักร้อยถึงพันต้นๆ เท่านั้น
การเดินทางมาเที่ยวสุคิริน
เมื่อมาถึงจังหวัดนราธิวาสใช้บริการรถนำเที่ยวของที่พักสายธารทอง รีสอร์ทให้มารับและนำเที่ยวโดยคิดราคารับส่งพร้อมนำเที่ยวตามจุดต่างๆ 1 วันในสุคิรินตามโปรแกรม จากสนามบินนราธิวาสหรือจุดต่างๆในตัวเมือง คิดราคา 1500 บาท จากอำเภอสุไหงโกลก 1200 บาท เริ่มสุคิรินคิดราคา 1000 บาท ติดต่อสายธารทองรีสอร์ท โทร 084 963 0464 , 094 317 4060