ใบเสมาบ้านกุดโง้ง ชัยภูมิ
ใบเสมาบ้านกุดโง้ง ตั้งอยู่ ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดี ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบหมู่บ้าน โดยถูกเก็บรวบรวมไว้ในภายในศาลาวัด ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหมดกว่า 30 ชิ้น
ใบเสมาบ้านกุดโง้ง เป็นเสมาหินทรายศิลปะทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่พบในภาคอีสาน เป็นโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงชุมชนในยุคสมัยทวาราวดี ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนาลัทธิหินยานได้มีการเผยแผ่เข้ามา ซึ่งใบเสมานี้ได้ถูกใช้ปักเพื่อเป็นการกำหนดเขตในการทำพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศานา โดยปกติหากนึกถึงใบเสมา พบเห็นได้ตามวัด มักจะตั้งอยู่รอบโบสถ์เพื่อแสดงอาณาเขตในการทำสังฆกรรม แต่เสมาหลายชิ้นแห่งในภาคอีสานไม่ได้อยู่ตามวัดตามโบสถ์ แต่สามารถพบเห็นได้ตามทุ่งนา บ้านเรือน และจุดต่างๆในหมู่บ้าน
ใบเสมาเหล่านี้เป็นใบเสมาที่ทำด้วยหินทรายแดง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ บางชิ้นมีความสูงกว่า 2 เมตร ด้านบนมีปลายแหลม มีทั้งเสมาแบบไม่มีลวดลาย และแบบสลักลวดลายเป็นภาพต่างๆ ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่าง ๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน นอกจากนี้ใบเสมาบางแผ่นปรากฏมีจารึกอักษรปัลลวะของอินเดียใต้อีกด้วย