ความสุขแบบบ้านทุ่งสไตล์ ที่บ้านนาต้นจั่น
ความสุขในการท่องเที่ยวของหลายคนอาจมีหลายแบบ บางคนสุขที่ได้เที่ยวได้พักในแบบหรูหรานอนสบาย แต่บางคนก็สุขไปกับการได้เที่ยวแบบง่ายๆแค่ได้อยู่กับความเป็นธรรมชาติในแบบที่ไม่ต้องมากมาย เหมือนกับที่ บ้านนาต้นจั่น เป็นความสุขที่ใครก็มาสัมผัสได้ไม่ยาก ซึ่งจะขอเรียกความสุขของนี้ว่า ความสุขแบบบ้านทุ่งสไตล์ บ้านนาต้นจั่น ตั้งอยู่ในตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนในเชิงอนุรักษ์ ได้ท่องเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติแบบครบวงจร โดยได้จัดเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยว ได้มาพักร่วมกับเจ้าของบ้านทำกิจกรรมร่วมกันเรียนรู้วิถีชีวิตตามชุมชน บ้านนาต้นจั่นเป็นชุมชมดั้งเดิมอพยพมาจากเมืองเหนือและเมืองลับแล ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเหนือ หมู่บ้านนาต้นจั่นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีต้นจั่นขึ้นอยู่มากมาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านนาต้นจั่น ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ผลไม้ตามฤดูกาล อาชีพเสริมคือ อาชีพทอผ้า จักสาน ทำหัตถกรรมตอไม้ ชุมชนอยู่กันแบบพี่แบบน้อง เอื้ออาทรต่อกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่องผีและข้อปฏิบัติต่างตามบรรพบุรุษ ซึ่งการมาเที่ยวบ้านนาต้นจั่น สามารถเที่ยวได้ทั้งแบบวันเดย์ทริป หรือพักค้างคืนแบบโฮมสเตย์
กิจกรรมท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่นได้แก่
1 แวะทานข้าวเปิ๊บ อาหารพื้นเมืองชื่อ
จุดแรกที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเมื่อมาถึงบ้านนาต้นจั่น คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านข้าวเปิ๊บ เป็นจุดแรกที่ทุกคนต้องผ่าน สามารถติดต่อไกด์นำเที่ยวตามจุดต่างๆ ได้ที่นี่ ข้าวเปิ๊บ หรือ ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง อันเลืองชื่อ หากไม่ได้ชิมข้าวเปิ๊บ ถือว่ายังมาไม่ถึงบ้านนาต้นจั่น สมัยก่อนชาวบ้านอยากกินก๋วยเตี๋ยวแบบคนในเมืองแต่แถวนี้ไม่มีขาย เมนูนี้จึงเกิดขึ้นมา
“เปิ๊บ” หมายถึง ลักษณะของการพับไปพับมา โดยนำข้าวเจ้าข้าวสารมาโม่ด้วยโม่หินและกรองด้วยผ้าขาวคล้ายกับเป็นแป้งเปียกข้น ๆแล้วหยอดแป้งลงที่นึ่งบนผ้าขาวบางเป็นแผ่นบาง ลักษณะการทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ พอแป้งสุกเค้าจะวางวุ้นเส้น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก ปิดฝานึ่งอีกรอบ พอผักเริ่มสุกก็พับแป้ง ไปมาตักใส่ถ้วยแล้วใส่ไข่หรือไม่ใส่ก็ได้ จากนั้นเติมด้วยน้ำซุป โรยหน้าด้วยผักชี ก็จะได้ข้าวเปิ๊บชามอร่อย มีให้ชิมทั้งแบบธรรมดา และใส่ไข่ ปรุงตามใจชอบ นอกจากนี่ยังมีเมนูอื่น ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวแบที่นำเส้นเล็กไปนึ่งพร้อมผักหลายอย่าง พอสุกก็ยกเติมเครื่องปรุง หมูแดง กากหมู เคียงข้างด้วยมะนาวสด หน้าตารสชาติเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้ง ข้าวพันไข่ ข้าวพันพริก ที่ใช้แป้งเดียวกับข้าวเปิ๊บ ในการทำเพียงแต่นำมาคลุกกับเครื่องปรุงแล้วห่อหน้าตาคล้ายกับขนมเบื้องยกเสิร์ฟมาบนใบตองพร้อมน้ำจิ้ม รสชาติทุกเมนูอร่อย แบบอาหารพื้นบ้าน
นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่น ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวแบบที่นำเส้นเล็กไปนึ่งพร้อมผักหลายอย่าง พอสุกก็ยกเติมเครื่องปรุง หมูแดง กากหมู เคียงข้างด้วยมะนาวสด หน้าตารสชาติเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้ง ข้าวพันไข่ ข้าวพันพริก ที่ใช้แป้งเดียวกับข้าวเปิ๊บ ในการทำเพียงแต่นำมาคลุกกับเครื่องปรุงแล้วห่อหน้าตาคล้ายกับขนมเบื้อง รสชาติทุกเมนูอร่อย
ซุ้มขายอาหารของคนในชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับร้านข้าวเปิ๊บ สามารถซื้อมานั่งทานได้
ร้านขายผลิตภัณฑ์ชุมชน
ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีร้านกาแฟ ชายทั้ง โกโก้ ชาเขียว ชาเย็น กาแฟ ซึ่งได้ลองชิมแล้วขอบอกว่าเครื่องดื่มแต่ละอย่างรสชาติอร่อยไม่ผิดหวัง
ชมสะพานไม้กลางทุ่งนา
จุดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจของบ้านนาต้นจั่น ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันทำสะพานไม้ไผ่สาน ขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร ผ่านทุ่งนาข้าว สีเขียวสด ทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ของชุมชน ที่กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่สนใจมาเที่ยวชมบรรยากาศแบบธรรมชาติ และชมวิถีชีวิตชุมชนในหมู่บ้าน
ชมสาธิตการทอผ้า
เพื่อนำไปใช้ทำเป็นผ้าหมักโคลน ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบ้านนาต้นจั่นนั่นเอง ถามคุณป้าว่า 1 ผืนใช้เวลาทอนานมั้ยค่ะ คุณป้าตอบว่า 3 วัน ดูแล้วก็น่าจะนานอยู่ค่ะเพราะเป็นการทอด้วยฝีมือและแรงงานคนล้วนๆ ซึ่งมีชาวบ้านอยู่หลายครัวเรือนที่ทอผ้าส่งไปยังศูนย์เพื่อส่งขายยังสถานที่ต่างๆ
ชมการสาธิตทำตุ๊กตาบาโหน
โดยมีคุณตาวงค์เป็นผู้ค้นคิดริเริ่มจนมีชื่อเสียง ตุ๊กตาบาร์โหนเครื่องบริหารมือซึ่งประดิษฐ์คิดทำมาหลายปีเป็นงานแฮนด์เมด ทุกวันนี้คุณตาสุขภาพถดถอย ไปตามกาลเวลาเพราะวัยล่วงมาแปดสิบปลาย ๆ แต่ยังได้ลูกชายกลับมาสืบทอดสานต่อรูปลักษณ์ความน่ารักและมีคุณประโยชน์ด้วย
กลุ่มตอไม้บ้านนาต้นจั่นตอไม้
คือ ตอไม้ที่ตายแล้วขุดมาจากใต้ดิน ไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของป่าไม้ ตอไม้ทำได้หลายอย่างทั้ง โต๊ะ เก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ซึ่งเป็นตอไม้ที่อยู่ในหมู่บ้าน ทราบมาว่าออเดอร์เยอะเพราะไม้จากตอไม้ก็เป็นไม้ที่แข็งและทนทานมาก ราคาก็ไม่แพงด้วย ในระดับหลักพักต้นๆ ถึงพันกลางเท่านั้นค่ะ
ชมกรรมวิธีการทำผ้าหมักโคลน
ซึ่งได้มาจากการทอผ้าในขั้นตอนแรก ผ้าหมักโคลนเกิดจากในสมัยก่อนเมื่อชาวบ้านไปทำไร่ไถนาก็นุ่งผ้าถุงเวลาเดินชายผ้าก็ติด โคลนตม เมื่อกลับถึงบ้านและซักผ้าตากไว้ ก็สังเกตได้ว่าชายผ้านั้นนุ่มเป็นพิเศษและมีสีทึบทึมลง ดูสวยแปลกตาไปอีกแบบจึงได้ ทดลองเอาผ้าทั้งผืนมาหมักโคลนทิ้งไว้ ก็พบว่าโคลนนี่เองที่ทำให้ผ้านิ่ม นี่จึงเป็นที่มาของผ้าหมักโคลน สาเหตุที่ผ้านิ่มนั้น เพราะธาตุเหล็กในโคลนเมื่อแทรกซึมจะทำให้เส้นใยผ้าขยายตัวเนื้อผ้าจึงนุ่ม และมีสีสันติดทนภูมิปัญญาจึงเกิดจากการสังเกตนี้เอง ดินโคลนที่นำมาใช้หมักก็นำมาจากในหมู่บ้าน บึง หลังหมักโคลนไว้คืนหนึ่งจนผ้านุ่ม ก็จะนำไปซักน้ำจนกว่าจนน้ำจะใสแล้วค่อย ย้อมทับด้วยสีตามที่ต้องการ
สีที่ใช้เป็นสีจากธรรมชาติ ใบหูกวาง สีเขียวครีม เปลือกมังคุดสีม่วง ใบสะเดาสีโอลด์โรส เปลือกใบมะม่วงสีเขียวแก่ ใบจั่นสีเขียวอ่อน แก่นขนุนสีเหลือง สะเดาสีกะปิ ลูกมะเกลือสีดำ ไม้เพกาสีเหลืองใบไผ่ ไม้ฝางสีแดงอมฝาด
พักผ่อนแบบโฮมสเตย์
ซึ่งภายในหมู่บ้านนาต้นจั่น มีที่พักให้บริการหลายหลัง ราคา 600 บาท /ท่าน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 250บาท/คน พร้อมที่พักอาหารเย็นและเช้า โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นมีประมาณ 15 หลัง แยกบ้านให้อยู่เป็นหลังหรืออยู่บ้านเดียวกับเจ้าของบ้าน เลือกตามความต้องการอยู่ได้อย่างอิสระ พร้อมด้วยเครื่องนอนมาเป็นหมู่คณะ รวมถึงมีกิจกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีไกด์เป็นคนในชุมชนพาเที่ยวไปยังจุดต่างๆของหมู่บ้าน โดยมีไกด์นำทางโดยคิดค่าน้ำทางแล้วแต่จะให้
โฮมสเตย์หลังนี้ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ตกแต่งได้ร่มรื่น และน่ารักมาก มีมุมนั่งเล่นพักผ่อนหลายมุม
ถัดเข้าไปไม่ไกล คือ โฮมสเตย์ ของแม่อรทัย
บ้านไร่ชายเขา โฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่ท้ายสุดของหมู่บ้าน บรรยากาศสงบ
ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ
สำหรับผู้ที่ค้างคืน สามารถไปชมวิวได้ โดยสามารถชมได้ทั้งภายพระอาทิตย์ขึ้นและตกหากโชคดีจะได้เห็นทะเลหมอกอีกด้วย แนะนำให้ขึ้นในช่วงหน้าฝนหลังจาก ที่ฝนตกใหม่บนจุดชมวิวจะมีทะเลหมอกให้ชมและหน้าหนาวบางวัน โดยต้องเดินเท้าระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ทางเดินขึ้นค่อนชันต้องเตรียมร่างกายและรองเท้ามาให้พร้อม หากขึ้นไปช่วงเช้าต้องเริ่มตั้งแต่ตี 4.30 เพื่อเริ่มเดินเท้าประมาณตีห้า เพื่อไปให้ทันพระอาทิตย์ขึ้น โดยคิดค่ารถนำเที่ยวคันละ 200 บาท นั่งได้ 10 คน และค่าคนนำทางอีก 200 บาท หรือนักท่องเที่ยว ท่านใดอยากขึ้นไปกางเต้นท์นอนข้างบนทางชุมชนก็มีบริการนำเที่ยวพร้อมเต้นท์ และอาหาร จุดชมวิวห้วยต้นไฮ เปิดให้ค้างแรม บนเขาในช่วงเดือน ต.ค.-ก.พ. สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น
รายละเอียดข้อมูลติดต่อ
ชุมชนบ้านนาต้นจั่น โทร 088 495 7738 089 885-1639
http://www.homestaynatonchan.blogspot.com/
https://www.facebook.com/HomeStayBannaTonChan
การเดินทางไปบ้านนาต้นจั่น
วิธีที่ 1 เดินทางโดยรถยนต์
เดินทางจากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 สายอุตรดิตถ์-ศรีสัชนาลัย ไปทางอุตรดิตถ์ ระยะทาง 9 กิโลเมตร แยกเข้าตัวตำบลบ้านตึก ถนนสายแม่ตะเพียนทอง-ห้วยตม ระยะทาง 10 กม. ผ่านโรงเรียนบ้านนาต้นจั่นมาถึง ร้านข้าวเปิ๊บซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจะ อยู่ซ้ายมือหรือที่เดียวกับผ้าหมักโคลน
วิธีที่ 2 เดินทางโดยรถบัส
ขึ้นจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุโขทัย สายสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ลงสถานีขนส่งศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ราคา 50 บาท แล้วเหมารถสองแถวเที่ยวละ 500 บาท