ไหว้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ชมย่านเมืองเก่าปัตตานี
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ความศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปัตตานีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ในตัวเมืองปัตตานี เป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์รวมศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี ในต่างจังหวัด และในต่างประเทศ ศาลเจ้าแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือชื่อที่ชาวบ้านเรียก “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ติดกับศาลเจ้าแม่ ยังมีย่านเมืองเก่าปัตตานี ซึ่งงดงามด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายแบบ หลากสไตล์ ให้ได้เดินทอดน่อง ผ่อนคลายอารมณ์ชมเมืองเก่าที่สวยงามแปลกตาอีกด้วย
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกันมาบ้าง ตามตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวเป็นสาวชาวจีนจากเมืองฮกเกี้ยน ซึ่งเกิดในช่วงสี่ถึงห้าร้อยปีมาแล้ว นางเดินทางลงเรือสำเภามายังเมืองปัตตานี เพื่อตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมให้กลับไปหามารดาที่ชราภาพที่บ้านเกิด แต่ได้พบความจริงว่า พี่ชายของตนได้แต่งงานกับธิดาพระยาตานีแล้วเข้ารับราชการในจวนเจ้าเมือง และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่สามารถกลับไปยังเมืองจีนพร้อมนางได้ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ดังสัจวาจาที่กล่าวไว้กับมารดาว่า “หากตามพี่ชายกลับไปหามารดาไม่ได้ จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป” ลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชายจึงได้ฝังศพของนางไว้ที่ฮวงซุ้ยที่หมู่บ้านกรือเซะนอกเมืองปัตตานี กล่าวขานกันว่า ดวงวิญญาณของนางได้แสดงอิทธิฤทธิ์เป็นที่เลื่องลือในหมู่ชาวบ้านทั่วไป พอมีผู้มาขอพรให้โชคลาภก็ได้ผล หรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้นจนทำให้เกิดความนับถือศรัทธาอย่างมาก ชาวปัตตานีจึงได้นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาและรสร้างศาลเจ้าขึ้นสักการะ สำหรับองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตาโชคลาภ ค้าขาย ซึ่งเป็นที่นิยมมากราบไหว้ของพรเพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิต
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะมีขั้นตอนในการไหว้ โดยจะมีคนเฝ้าศาลคอยแนะนำขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ซื้อชุดไหว้ มีธูปเทียนแลกระดาษสำหรับให้เราเผาในตอนไหว้เสร็จแล้ว โดยต้องไหว้ฟ้าดินก่อนโดยใช้ธูป 7 ดอกและเทียน 2 เล่ม จะมีกระถางอันใหญ่อยู่หน้าศาล จากนั้นเข้าไปไหว้ข้างในศาลกันค่ะ โดยเริ่มจากไหว้พระจีน จากนั้นไปไหว้โต๊ะที่ 3 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว จากนั้นก็ไหว้โต๊ะที่ 4 ซึ่งอยู่อีกฝั่งใกล้กับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เสร็จแล้วเดินไปทางประตูขวาจะมีที่ตั้งของรูปปั้นองค์เทพเจ้าต่างๆมากมาย เมื่อไหว้ครบแล้วเอาขวดน้ำมั้นไปเติมไปจุดต่างๆหลังจากนั้นนำกระดาษไปเผาในอุโมงค์ ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อเป็นการขจัดสิ่งไม่ดีออกไปและกลับเข้ามาที่ศาลเพื่อตีระฆัง 3 ครั้งเป็นสิริมงคลกับชีวิต “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” สามารถมาสักการะได้ทั้งปี แต่หากจะมาร่วมงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์
ก่อนกลับอย่าลืมอีกหนึ่งความศรัทธาที่เรียกว่าเป็นประเพณี ยืมเงินขวัญถุงกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่ว่าจะช่วยให้ทำมาค้าขายขึ้น โดยมีให้ยืมเริ่มต้นที่ 30 บาท 50 บาท 100 บาท ยืมไปเท่าไหร่หากทำมาค้าขายหรือได้เงินมาให้นำมาคืนเป็นจำนวน 2 เท่าของยืม เช่น มาขอยืม ไป 50 บาท ก็เอาเงินมาคืนหรือทำบุญ 100 บาท โดยจะมีซองสีแดงใส่เงินของเราที่ยืมเพื่อเก็บไว้ในกระเป๋าเงินเป็นเงินขวัญถุง
ติดดับศาลเจ้าแม่ คือ พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มหอเหนี่ยว เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน ด้านหน้าโดดเด่นไปด้วยประติมากรรม 18 อรหันต์จากเมืองจีนที่ช่างแกะสลักได้อย่างมีชีวิตชีวา ส่วนภายในมีการแบ่งออกเป็น 9 โซนหลัก จัดแสดงเรื่องราวน่าสนใจต่าง ๆได้แก่ ส่วนจัดแสดงประวัติปัตตานี และชุมชนจีน เรื่องราวประวัติพระหมอเชงจุ้ยโจวซือกง เรื่องราวการเดินทางข้ามแผ่นดิน เรื่องราวประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนจัดแสดงเกี้ยว และงานพิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนจัดแสดงมัลติมีเดีย 1 หรือห้องบรรยาย ห้องคนรักปัตตานี ห้องรำลึกมหาราชา และ ห้องตลาดจีนเมืองปัตตานี
ตรงกันข้ามกับศาลเจ้าแม่ ลิ้มกอเหนี่ยว ได้ทำเป็นอัฒจันทร์ที่นั่งมีเบรคกราวน์เป็นภาพเขียนสีเป็นภาพเรือกอเละ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี และ ข้อความ มาถึงแล้วปัตตานี เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายภาพเท่ๆ ที่เมื่อมาถึงปัตตานีแล้วไม่ควรพลาด
เดินจากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปนิดหนึ่ง จะพบกับบรรยากาศของเมืองเก่าของปัตตานี มาเห็นครั้งแรกต้องบอกว่าอึ้ง เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าปัตตานีจะมีมุมแบบนี้ให้ได้สัมผัสด้วย เมืองเก่าปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนอาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี และเชื่อมโยงกับถนนนาเกลือ บริเวณนี้ คือ ถนนอาเนาะรู ซึ่งมี บรรยากาศคล้ายกับย่านเก่าสงขลา
ประวัติของย่านเมืองเก่าปัตตานี
ย่านชุมชนเมืองเก่าปัตตานีก่อตั้งเป็นชุมชนชาวจีนมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งประวัติของชุมชนมีความเกี่ยวกันกับการสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ด้วยตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี ทำให้ชุมชนแห่งนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นตามลำดับกลายเป็นเมืองท่าสำคัญริมแม่น้ำปัตตานี ที่มีเรือทั้ง จาก จีน สิงคโปร์ ชวา อยุธยา พระนคร เดินทางมาขนถ่ายสินค้าที่นี่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชุมชนเมืองเก่าปัตตานีมีความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนขึ้นมาจำนวนหลายหลัง ซึ่งยังคงความสวยงามคลาสสิกเป็นมรดกแห่งชุมชนตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญแล้ว ในอดีตที่นี่ยังเป็นย่านการค้าสำคัญ และย่านตลาดยุคแรก ๆ ของปัตตานี จึงเกิดเป็นชุมชนหัวตลาดและมีการสร้างวัดหัวตลาดขึ้นที่บริเวณย่านเมืองเก่าแห่งนี้ เดิมบริเวณนี้เรียกว่า ตลาดจีน หรือ กือดาจีนอ (กือดา แปลว่าตลาด จีน อ หมายถึงจีน) จนกระทั่งหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชุมชนเมืองใหญ่ต่างพากันขยายตัว การขนส่งทางน้ำลดความสำคัญลง ถนนเข้ามามีความสำคัญแทนที่ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างออกนอกพื้นที่ทั้งไปศึกษาหาความรู้และสร้างเนื้อสร้างตัว ชุมชนเมืองเก่าปัตตานีจึงค่อย ๆ ซบเซาลงไปเรื่อย ๆ ทำให้บ้านหลายหลังถูกทิ้งร้าง จนมีคนซื้อไปทำบ้านรังนกแทน ในปัจจุบันได้มีปลุกชีวิตเมืองเก่าปัตตานีขึ้นมาอีกครั้ง โดยการจัดงานรื้อฟื้นย่านตลาดเก่าหรือ“กือดาจีน” ขึ้นที่ชุมชนเมืองเก่าปัตตานี จากที่เคยเงียบเหงาซบเซาให้กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ตลอดสองฝั่งถนนจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของย่านเมืองเก่าปัตตานี ที่มีอาคารบ้านเรือนแบบโบราณให้ชมกันเช่น บ้าน 300 ปี ถือเป็นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้มีอายุราว 300 ปี บ้านเลขที่ 27 บ้านธรรมศาลา
ร้านโรงเตี๊ยม อาเนาะรู เดิมเป็นบ้านภรรยาน้อยของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ในอดีตเคยถูกทำเป็นป้อมยามและเรือนรับรองสำหรับผู้ที่มาหาหลวงสุนทรฯ ส่วนปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านโรงเตี๊ยม อาเนาะรู ขายชา กาแฟ และติ่มซำยามเย็น ถัดจากร้านนี้ไปเป็นบ้านที่เก่าที่สุดบนถนนอาเนาะรู บ้านกงสี
บ้านตึกขาว เดิมเป็นบ้านของคุณพระจีนคณานุรักษ์(ตันจูล้าย) ก่อสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2426 รัชกาลที่ 5 เคยแวะมาประทับ เมื่อคราวเสด็จประพาสตลาดจีนและศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
บ้านเลขที่ 1 และบ้านรังนก ซึ่งอยู่ติดกัน
มาถึงอีกหนึ่งเส้น ถนนฤาดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีส บรรยากาศคล้ายกับถนนถลางในย่านเก่าภูเก็ต และตะกั่วป่า พังงา แต่กลุ่มอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสแบบปัตตานี แตกต่างจากบ้านชิโนโปรตุกีสที่ตะกั่วป่า ปากพนัง สงขลา หรือภูเก็ต ที่เป็นตึกปูนทั้งหลัง ตึกที่นี่มีทั้งตึกปูนและตึกครึ่งอิฐครึ่งไม้ จุดสังเกตคือเพดานชั้นหนึ่งสูงและเสาคู่ที่หน้าบ้านเป็นอีกหนึ่งสีสันอันน่ายลในย่านเมืองเก่าแห่งนี้
หากได้ผ่านมาปัตตานี อย่าลืมแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด เพราะขอพรและสิ่งที่หมายปองต่างๆ ให้สมหวัง แวะเดินเล่นย่านเก่าปัตตานี ถ่ายภาพตึกเก่าสุดเก๋ ปลุกความมีชีวิตชีวาแบบชุมชนดั้งเดิม มาปัตตานีก็มีมุมนี้ให้เราได้เที่ยวเหมือนกัน