มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ แห่งปัตตานี
มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะแบบเสาโกธิคของยุโรป ช่องประตู หน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิค โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง
หนังสือสยาเราะห์ปัตตานีของนายหะยี หวันหะซัน กล่าวว่า สุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้างประมาณปีฮิจเราะห์ ๑๑๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๖๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย เหตุที่ก่อสร้างไม่เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยุนุสกับระตูปะกาลันซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่านลองยุนุสสิ้นพระชนม์แล้ว ระตูปูยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองตานีคนต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปูยุด (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่ ตำบลปูยุด อำเภอเมืองปัตตานี) บริเวณที่ตั้งวังของระตูปูยุด ยังคงปรากฏร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้ จนไม่มีผู้ใด้คิดสร้างต่อเติมมัสยิดอีกทิ้งไว้รกร้าง ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และทำการบูรณะซ่อมแซม ทั้งนี้เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี และใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจได้ต่อไป
บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีฮวงซุ้ย หรือสุสานที่ฝังศพของ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับการตกแต่งพูนดินใหม่ปรากฏอยู่ มีผู้คนไปกราบไหว้กันมากพร้อมด้วยสิ่ง- ก่อสร้างอื่น ๆ เช่น เก๋งจีน โอ่งน้ำสีแดง มัสยิดกรือเซะนี้ อีกหนึ่งตำนานของมัสยิดกรือแซะ เล่ากันว่า สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นชาวจีนได้มาแต่งงานกับธิดาพระยาตานีและได้เปลี่ยน มานับ ถือศาสนาอิสลาม ต่อมาน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว ได้ลงเรือสำเภามาตามให้พี่ชายกลับ เมืองจีนแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้สร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่ง ขออย่าให้สร้าง มัสยิดสำเร็จ และตัวเองได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้จัดการฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้า มัสยิดนี้ ชาวปัตตานีนำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้า ต่อมาได้มีการ อัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาล เมืองปัตตานี เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ( ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นที่นับถือของชาวปัตตานี และชาวจังหวัด ใกล้เคียง ในเดือน 3 ของทุกปี ( กุมภาพันธ์-มีนาคม ) จะมีพิธีเซ่นไหว้และแห่เจ้าแม่ นับว่าเป็นพิธีที่สนุก- สนานมาก ส่วนมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จได้ เมื่อจะสร้างต่อก็ให้มีอาเพศ ฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าสร้างมัสยิดกรือเซะต่อ คงเหลือซากทิ้งไว้ตราบเท่าทุกวันนี้