ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า)
ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ตั้งอยู่ บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ใกล้กับหอนาฬิกา เป็นอาคารไม้สักเก่าแก่ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะอาคารสร้างด้วยไม้สัก เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่ประยุกต์ให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อนหันหน้าออกสู่แม่น้ำ เป็นอาคาร 2 ชั้นก่ออิฐถือปูน มี7 หลัง วางผังเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบลานกว้าง เชื่อมต่อด้วยระเบียงทางเดินทำด้วยไม้ที่ยื่นออกมารอบอาคารด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. 2524
รูปแบบอาคาร
หลังคา ทำเป็นทรงสูงมีที่ว่างใต้หลังคาเพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยมีทั้งทรงปั้นหยา และทรงจั่ว
กันสาด ตรงด้านระเบียงทางเดินทำเป็นบานเกล็ดไม้ นอกจากจะช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดแล้วยังทำให้อากาศร้อนจากตัว อาคารถ่ายเทออกไปได้ด้วย
คันทวย ทำด้วยไม้รูปแบบเรขาคณิต ช่วยค้ำยันรับน้ำหนักกันสาดและเพิ่มความงดงามให้กับอาคารราวระเบียงทำด้วยไม้ เป็นลวดลายแบบตะวันตกที่นิยมในรัชกาลที่ 5 ช่วงบนเป็นกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมแบบเรขาคณิต ช่วงล่างตกแต่งด้วยไม้ระแนง ตั้งเว้นช่องว่างสลับกัน
ประตู- หน้าต่าง และช่องระบายอากาศ ประตูทำเป็นบานลูกฟัก ส่วนหน้าต่างเป็นบานเกล็ด ด้านบนของกรอบประตูหน้าต่าง มีช่องระบายอากาศเป็นแผ่นไม้ฉลุลายแบบเรียบง่าย ถ่ายเทอากาศภายในห้อง
บันได สร้างไว้ด้านหลังของตัวอาคารยื่นออกไปนอกแนวระเบียงทางเดินมีหลังคาเอีย งลาดขนานกับตัวบันได การวางบันไดอยู่นอก ตัวอาคารแสดงถึงแนวคิดที่ได้รับมาจากสถาปัตยกรรมไทย
ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) เดิมจุดประสงค์ให้เป็น โรงเรียนกฎหมาย แต่เนื่องจากยังไม่มีบุคลากร จึงได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งได้เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454 -2469 และได้ยุบโรงเรียนราชวิทยาลัย โดยโอนย้ายนักเรียนไปรวมกับโรงเรียมหาดเล็กกรุงเทพ ต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่จาก รัชกาลที่ 7 ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” อาคารหลังนี้จึงได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ระหว่างปี พ.ศ.2471 – 2535 จากนั้นใช้เป็น ที่ตั้งวิทยาลัยมหาดไทย จนถึงปี พ.ศ.2551 นับจากปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป อาคารหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์ และปรับปรุงให้เป็นที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี อันเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดนนทบุรีอย่างครบถ้วน เพื่อสร้างความรู้ ความภาคภูมิใจ และความรักในท้องถิ่นให้แก่ชาวนนทบุรี โดยพิพิธภัณฑ์นี้เป็นแหล่งรวบรวม เก็บรักษา และจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตลอด จนมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาวนนทบุรี
วันเปิดทำการ วันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. เปิดให้เข้าชมฟรี