พิพิธบางลำพู กรุงเทพ
พิพิธบางลำพู ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ ริมคลองบางลำพู ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ โดยกรมธนารักษ์ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคาร โรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) ซึ่งเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาและเป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอาคารจากกรมศิลปากรเมื่อปี 43 เปิดเป็น แหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งประยุกต์การแสดงวัตถุและการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์เข้ากับการแสดงวิถีชุมชนบางลำพูเดิมอย่างน่าสนใจ
พิพิธภัณฑ์ออกแบบพื้นที่ภายในแบบ “ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็ก พร้อมจัดทำอักษรเบรลล์เพื่อบรรยายรายละเอียดของส่วนจัดแสดงให้แก่ผู้พิการทางสายตา และอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศด้วยการจัดทำบรรยายเสียงข้อมูล 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ เยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส โดยการ จัดแสดงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามอาคาร 2 หลัง คือ อาคารไม้เก่า และอาคาปูนรูปตัว L ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการให้สอดคล้อง ตามเนื้อหาประวัติศาสตร์ หลายพื้นที่ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีเทคโนโลยีทันสมัยอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้ผู้เข้าชม มีส่วนร่วมในการเลือกดูข้อมูลด้วย
โดยอาคารแบบออกเป็นสองชั้นและแบ่งเป็นห้องนิทรรศการต่างๆ ดังนี้
บริเวณชั้น 1 อาคารปูน เดินชมได้ตามอัธยาศัย
เอกบรมองค์ราชินี
จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคล 82 พรรษา ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เนื่องจากอาคารหลังนี้ก่อสร้างขึ้นในปี 2475 ซึ่งเป็นปีประสูติของพระองค์
ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ที่ทำให้เห็นความเป็นมาของเมื่อแรกเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กลางห้องมีแนวกำแพงเก่าที่จำลองขึ้น ทำให้ทราบเรื่องราวของ “กำแพงป้องธานี”เกี่ยวกับการสร้างกำแพงพระนครและเกร็ดความรู้เรื่องการหล่ออิฐด้วยเทคนิคช่างโบราณ มีกำแพงเมืองแล้วก็ต้องมี “คูคลองล่องลำนำ”คูเมืองรอบพระนคร และคลองสำคัญต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทำให้เกิดย่านชุมชนย่านการค้าต่างๆ ขึ้น
ประตูคู่วิถี
บทบาทของประตูเมืองที่มีส่วนสำคัญกับความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต มีทั้งประวัติความเป็นมา ชื่อและตำแหน่งประตูเมืองทั้งประตูวังหน้า และประตูวังหลวง อีกทั้งยังมี “ป้อมปกนครา” ซึ่งเป็นเรื่องของป้อมเก่าแก่ทั้ง 14 ป้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ป้อม เท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือ “ป้อมพระสุเมรุ” คู่ย่านบางลำพูนั่นเอง
บริเวณชั้น 2 อาคารปูน จะมีการนำชมเป็นรอบๆละ 30 นาที มีเจ้าหน้าที่นำพาและให้ข้อมูล
เริ่มจากห้องนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดินทั้งทรัพย์สินมีค่า ที่สะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ ที่ดิน หรือเหรียญกษาปณ์ ได้เห็นขั้นตอนกว่าจะมาเป็นเหรียญกษาปณ์ใช้หมุนเวียน ในท้องตลาดได้นั้นต้องผ่านกรรมวิธีอะไรบ้างรวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดสรรดูแลที่ราชพัสดุอีกด้วย
ข้ามไปสู่อาคารไม้ชั้น 2
สีสันบางลำพู
กล่าวถึงความเป็นชุมชนหลากเชื้อชาติยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มาขุดคลองรอบกรุง และปักหลักอยู่อาศัยในบริเวณนี้ จนถึงยุคสมัย รัชกาลที่ 5 และเข้าสู่ยุคก่อนจะมาถึงปัจจุบันที่เรียกว่ายุค “พระนครเซ็นเตอร์” โดยบอกเล่าเรื่องบางลำพูที่คนทั่วไปรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นแหล่ง ของกินอร่อย สวนสาธารณะของชาวพระนคร รวมไปถึงแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน จากนั้นประตูอัตโนมัติจะเปิดออกไปสู่ห้อง “เบาะแสจากริมคลอง”ผ่านภาพยนตร์ที่ฉายลงบนผนังและพื้นผิวน้ำที่ จำลองเป็นคลองบางลำพู ให้เห็นผู้คนหลากเชื้อชาติที่อาศัยร่วมกัน ในย่านบางลำพู ทั้งชาวไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีน ผู้คนหลากเชื้อชาตินี้เองที่จะเป็นผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การขุดคลอง รอบกรุงเพื่อขยายอาณาเขตพระนคร ก่อเกิดชุมชนหลากเชื้อชาติและการคมนาคมริมน้ำ จนกระทั่งเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออารยธรรม ตะวันตกเริ่มเข้ามา เกิดการสร้างถนน ผู้คนหันมาใช้การคมนาคมทางบก วิถีชีวิตของคนที่บางลำพูจึงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
พระนครเซ็นเตอร์
ห้องนี้ถือว่าเป็นห้องที่ตื่นตาตื่นใจ และมีมุมให้ถ่ายภาพมากมาย มีรถรางสีเหลืองคันใหญ่จอดรอผู้โดยสาร รวมถึงหุ่นเด็กก้มแอบดูผ่าน รูรั้วสังกะสีเป็นภาพที่น่ารักโดยมีช่องเล็กๆให้เราได้มีส่วนร่วมแอบมองด้วยซึ่งหลังรั้วสังกะสีนี้มีลิเกกำลังแสดงอยู่นี่เอง ซึ่งเป็นการจำลอง สถานการณ์ของเด็กๆ สมัยนั้นไม่มีสตางค์มากพอจะซื้อตั๋วไปดูลิเกข้างใน ขอดูผ่านรูแบบนี้ก็สนุกได้ตามประสาเด็กรวมถึงรถรางและ โรงลิเกล้วนเป็นตัวแทนของย่านบางลำพูในอดีต ซึ่งสมัยก่อนต้องถือว่าย่านนี้เป็นศูนย์รวมความเจริญ ทั้งหลายเนื่องจากจุดตัดรถรางอยู่ ในบริเวณนี้ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมมหรสพความบันเทิงที่เฟื่องฟูที่สุดในพระนคร มีทั้งโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ โรงลิเกหอมหวน ห้าง ต.เง็กชวน ถนนสิบสามห้าง ในห้องนี้ยังรวบรวมเอาร้านค้าเก่าแก่ในย่านบางลำพูมาจัดแสดงให้ชมกันด้วย อาทิ ร้านกาแฟในบรรยากาศ เก่าๆ ที่ด้านบนจัดเป็นโรงเตี๊ยมเล็กๆ ร้านรองเท้าแก้วฟ้า ร้านรองเท้าสั่งตัดที่ผลิตรองเท้าอย่างประณีตเป็นที่นิยมมากในอดีต ร้านเสื้อนพรัตน์ ที่ขายชุดนักเรียนและเสื้อผ้า ห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งฮั่วเส็ง ห้างเล็กๆ คู่ย่านบางลำพูที่มีชื่อเสียงในเรื่องการขาย อุปกรณ์ งานฝีมือ ที่หลากหลายและครบครันมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า
แนะนำชุมชนและตรอกซอกซอยต่างๆ ของบางลำพูที่คนภายนอกอาจไม่เคยรู้ อาทิ การปักชุด โขนของชุมชนตรอก เขียนนิวาสและ ตรอกไก่แจ้, บ้านดุริยประณีต เจ้าตำรับแห่งดนตรีไทยในชุมชนวัดสังเวชวรวิหาร, เครื่องถม, ตีทองคำเปลว, การแทงหยวก
ถิ่นคนดีศรีบางลำพู
เป็นห้องสุดท้าย จัดแสดงบุคคลที่มีชื่อเสียง และสร้างคุณูปการให้แก่สังคมมากมาย มีต้น“หิ่งห้อย” และ “ต้นลำพู” ซึ่งนำส่วนหนึ่งมาจาก “ต้นสุดท้าย” ที่ตายไป จัดแสดงพร้อมกับ “ขุมทรัพย์บางลำพู” ที่สามารถค้นหาคำตอบได้ด้วย “แผนที่” ซึ่งได้รับแจกแต่แรกเข้า จากนั้น ก็มาถึงเรื่องราวลำดับเหตุการณ์สำคัญของ “ย่านบางลำพู” นอกจากนี้ยังระดิษฐานพระพุทธบางลำพูประชานาถ ศูนย์รวมจิตใจที่สมเด็จ พระสังฆราชทรงประทานให้ชาวชุมชนบางลำพูู
หลังจากชมนิทรรศการเรียบร้อยแล้วสามารถมาชมส่วนชั้นล่างของอาคารไม้ยังจัดเป็นห้องนิทรรศการ “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทยและการพิมพ์ระบบตัวเรียง ที่มีการเรียนการสอนกัน ในโรงเรียน ช่างพิมพ์วัดสังเวช ที่ยังคงเป็นการพิมพ์ระบบตัวเรียงหรือ “เล็ตเตอร์เพรส” โดยผู้ชมจะได้รับ ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเรียงตัวตะกั่ว เพื่อให้เกิดเป็นแม่พิมพ์ ก่อนที่จะเรียนรู้ถึงรูปแบบของเครื่องพิมพ์ขั้นตอนการพิมพ์ และยังเข้าใจถึงการพับซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่ใช้ใน การเย็บหนังสือ ความสนุกอยู่ตรงที่ผู้เข้าชมสามารถใช้เครื่องพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสนี้พิมพ์โปสการ์ดด้วยตนเองและส่งผ่านความประทับใจ นี้ผ่าน ไปรษณีย์ได้อีกด้วย รวมถึงจัดทำเป็น “ห้องสมุดชุมชนบางลำพู”ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือหายากและข้อมูลเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์บางลำพูที่เยอะที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม
พิพิธบางลำพู ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลา 10.00-18.00 น. โดยไม่มีวันหยุดและเข้าชมฟรีเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันนี้-30 ก.ย. 57 และหลังจากนั้นจะเปิดเฉพาะวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์) 10.00-18.00 น. และมีค่าเข้าชม 100 บาท เมื่อไปถึงควรไปติดต่อรับบัตรคิวได้ที่เคาเตอร์ด้านหน้าอาคารทั้งนี้จะเปิดเข้าชมเป็นรอบ ทุกๆ 30 นาที โดยเข้าชมรอบแรกเวลา 10.00 น. และเข้าชมรอบสุดท้ายเวลา 16.00 น. ทั้งนี้ผู้ชมสามารถเดินดูห้องจัดแสดงชั่วคราว (ชั้น 1 อาคารปูน) ได้ตามอัธยาศัยโดยไม่จำกัด เวลาภายในวันที่ระบุในบัตรเข้าชม ยกเว้นส่วนนิทรรศการถาวร (อาคารไม้ และชั้น 2 อาคารปูน) ซึ่งทางอาคารจำเป็นต้องสงวนสิทธิ์ใน การเข้าชมเฉพาะรอบเวลาที่ระบุไว้ในบัตรเข้าชมเท่านั้น