วัดทางสาย บ้านกรูด
วัดทางสาย ตั้งอยู่บนเขาปักธงชัย ริมทะเลบ้านกรูด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนี้ ได้แก่ พระพุทธกิติสิริชัย พระพุทธรูปปางสมาธิแบบศิลปะคันธาระ หันพระพักตร์ออกทะเล พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ หรือพระมหาเจดีย์เก้ายอด พระปรางค์จัตุรมุขสูงสามชั้น สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เป็นจุดชมวิวที่สวยงามสามารถมองเห็นชายหาดบ้านกรูด เวิ้งอ่าวและทิวมะพร้าวสุดสายตา
ขับรถขึ้นไปบนยอดเขานิดเดียวระยะทางไม่ถึงกับชันมาก จากนั้นจอดรถบริเวณลานจอดรถ จุดแรกที่อยู่ตรงข้ามกับลานจดรถ คือ พระพุทธกิตติสิริชัย ชาวบ้านมักเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่เป็น พระพุทธรูปปางสมาธิแบบศิลปะคันธาระ(ได้รับอิทธิพลจากกรีกผ่านอินเดีย) หันพระพักตร์ออกทะเล ชาวบางสะพานสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
พระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ มีความสวยงามวิจิตรตระการตาตามแบบไทยแท้ สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์เป็นปีที่ห้าสิบ ออกแบบโดยม.ร.ว มิตรารุณ เกษมศรี นายช่างถานปนิกประจำสำนักพระราชวัง โดยฝีมือการออกแบบและก่อสร้างอย่างวิจิตรบรรจง ทรงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมไทยอันยอดเยี่ยม ที่ทุกคนควรหาโอกาสมาเยี่ยมชมเพื่อประจักษ์ถึงความงดงามของศิลปไทย
พระมหาธาตุเจดีย์ มีทั้งหมด 5 ชั้นดังนี้
ชั้นที่ 1 ชั้นใต้พื้นดินเป็นที่เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่
พื้นที่ในส่วนนี้ เป็นถังเก็บน้ำ และมีห้องเก็บของ โดยแบ่งออกเป็น 2 ปีก ทางด้านมุขทิศตะวันออกและมุขทิศตะวันตก
ชั้นที่ 2 เป็นโถงอเนกประสงค์และสำนักงานมูลนิธิ เพื่อพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
พื้นที่ในชั้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่คือ พื้นที่ภายในอาคาร และพื้นที่ลานประทักษิณด้านนอก ซึ่งบนลานประทักษิณนั้น มีบันได เชื่อมสู่ชั้นที่ 2 และเป็นที่ตั้งของ หอกลอง หอระฆัง และศาลารายอีก 4 หลัง และที่บริเวณมุมของฐานชั้นนี้เป็น ที่ตั้งของใบเสมา รวมทั้งหมด 8 ใบ ส่วนพื้นที่ภายในอาคารนั้นเป็นโถงโล่งขนาดใหญ่สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ ส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นถูกกัน ไว้สำหรับเป็นห้องเครื่องปั๊มน้ำ และห้องเก็บของ
ชั้นที่ 3 เป็นวิหาร บริเวณใจกลางเป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปปางอิริยาบถสี่ จำนวน 4 องค์
ทางเข้าภายในวิหารเป็นซุ้มทำด้วยไม้สักทองแกะสลัก แท่นและซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ทำด้วยหินอ่อน ผนังโดยรอบ เขียนจิตรกรรมภาพ 5 ธันวามหาราช 1 ภาพ พระราชพิธีสิบสองเดือน 12 ภาพและประเพณีท้องถิ่นภาคต่างๆ ของประเทศไทยอีก 50 ภาพ
ชั้นที่ 4 เป็นอุโบสถ
ประดิษฐานพระประธาน มีชื่อว่า “พระพุทธลีลากาญจนวบพิตร” พระประธานในอุโบสถจัดสร้างโดยยึด ถือรูปแบบพุทธลักษณะ ปางลีลาโดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยกรุงสุโขทัยซึ่งมีอายุกว่า 800 ปี ที่มีความงดงาม อ่อนล้อยถึงพร้อม ด้วยคุณค่าแห่งพุทธศิลปะโดยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่งามที่สุดในโลก
ด้านหลังพระประธานเขียนจิตรกรรม ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาววดึงส์อยู่ภายในกรอบ 12 นักษัตรด้านหน้า พระประธานตอนบนเขียนพระพุทธเจ้าเสด็จประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะโปรดพระพุทธมารดา มีต้นปาริชาติและพระจุฬามณี ส่วนตอนล่างตามช่องหน้าต่างเขียนพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนกบนกระจกสีโปร่งแสงสเตน กล๊าส ส่วนบนเป็นพระปรมาภิไธย ย่อ “ภปร” และ ตราพระราชสัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 จำนวน 20 ภาพ บานประตูเขียนสีปิดทองเป็นรูปทวารบาล เทวดายืนแท่นมียักษ์แบก
ชั้นที่ 5 บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้สัก แกะสลักปิดทองตั้งอยู่บนฐานทรงสูง ทำด้วยหินอ่อนมีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน ใจกลางประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ปางประจำพระชนมวาร ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วิวจากองค์พระธาตุ มองเห็นทะเลบ้านกรูด