ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช
ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีอาคารทั้งหมด 4 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมือง ออกแบบให้มีลักษณะ คล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่าทรงเหมราชลีลา ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลังเป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมืองและศาลพรบันดาลเมือง
ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ หลายคนคงเคยรับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของศาลหลักเมืองจากคำลือมาหลายต่อหลายครั้ง ผ่านองค์จตุคามรามเทพเทวดารักษาเมือง ซึ่งอยู่บนเสาสูงสุดของหลักเมือง หลากหลายเรื่องราวที่เล่าจากประสบการณ์ที่ได้พบมา ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างศาลหลักเมือง เริ่มตั้งแต่องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนทอง ที่ได้มาจากภูเขายอดเหลืองภูเขาลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช คณะตัดฟันได้ตัดต้นตะเคียนเหลือความยาว 4 เมตร ต้องใช้ช้าง ชักลาก ลงมาจากยอดเขา เมื่อช้างชักลากตอนแรกไม้ตะเคียนทองไม่ยอมขยับเขยื้อน แต่เมื่อคณะตัดฟันได้จุดธูปบอก กล่าวช้างก็สามารถชักลากได้ตามปกติ วันแรกที่แห่เสาหลักเมืองที่แกะสลักและตกแต่งเสร็จแล้ว ลงเรือศรีวิชัยโบราณจำลองจากบ้านพักผู้กำกับฯ ไปยังหน้าวิหารหลวง ขณะที่อัญเชิญเสาหลักเมืองจากเรือจำลอง ลงตั้งพื้นลานหน้าวิหารหลวงนั่นเองได้เกิด ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ ทรงกลด ณ ที่นั้นทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ วันนั้นได้เกิดฝนตกหนักมากในเขตภูเขาต้นน้ำทางตะวันตกของเมือง เป็นเหตุให้น้ำป่าไหลเกือบ ล้นฝั่งคลองท่าดีและคลองพรหมโลก วัวควายที่ชาวบ้านล่ามไว้ในคลองตายไปหลายตัว ทั้งที่ช่วงนั้นเป็นหน้าแล้ง หรือแม้แต่การประกอบพิธีกรรม ที่เกี่ยวกับหลักเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพิธีกลางแจ้ง มักจะมีฝนโปรยเม็ดพรำๆ แทบทุกครั้งในพิธีกรรม ต่างๆ และอีกหลายเรื่องราวอัศจรรย์อีกมากมาย