วัดหัวข่วง ชมท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่าน ประณีตงดงาม
วัดหัวข่วง ตั้งอยู่บนถนนมหาพรหม อำเภอเมืองน่าน ใกล้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน เป็น วัดเก่าแก่ ที่สวยงามอีกวัดหนึ่งของน่าน ทั้งวิหารและเจดีย์มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่านฝีมือประณีตงดงาม นอกจากนี้ยังมีหอไตรเก่าแก่ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณกลางวัด ลักษณะคล้ายวิหารแต่มีขนาดเล็ก และทรงสูงหน้าบันและฝาชั้นบน ประดับลายแกะสลักสวยงาม ตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์ วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงหลักฐานว่าได้รับการบูรณะในราวพ.ศ. 2425 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และต่อมาราวปี พ.ศ.2472 ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองน่านองค์สุดท้าย ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ มาบูรณะเจดีย์วัดหัวข่วงและได้ประกาศเป็นโบราณสถานของชาติ
ปูชนียสถานในวัดหัวข่วง
วิหาร
ปัจจุบันเป็นอาคารทรงจั่วเด่นที่หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษา อย่างประณีตและสวยงาม ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปใบผักกาดอันเป็นศิลปะแบบตะวันตก เป็นวิหารผีมือช่างเมืองน่าน ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นอกจากนี้ในวัดยังมีหอไตรเก่าลักษณะน่าชม คล้ายวิหารแต่มีขนาดเล็กและทรงสูงหน้าบันและฝาชั้นบน ประดับลายแกะสลักสวยงามตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์
เจดีย์วัดหัวข่วง
ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาท หรือเรือนทอง ได้รับอิทธิพลศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม รับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น มีชั้นหน้า กระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบน ย่อเก็จรับกับเรือนธาตุ ไปจรดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัม ด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้าง ปั้นเป็นรูปทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ เหนือชั้นอัสดงตอนสุดเรือนธาตุ เป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น องค์ระฆัง มีขนาดเล็กไม่มีบัลลังก์ ลักษณะของรูปทรง โดยส่วนรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นระหว่าง รัชกาลพระเมืองเกษเกล้า รวม พ.ศ. 2071 แต่สวนฐานล่าง และชั้นบัวถลาของเจดีย์นี้ยึดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า แสดงถึง พัฒนาการ ทรงรูปแบบที่ช่างเมืองน่าน ดัดแปลงนำมาใช้ในระยะหลัง ซึ่งคงมีอายุไม่เก่าไปกว่า ครึ่งแรกของพุทธศตวรรณที่ 22
หอไตรวัดหัวข่วง
เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุข ใต้ถุนก่อทึบและธรรมาสน์ทรงสี่เหลี่ยมยอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นสถานที่เก็บ พระไตรปิฏก และคำภีร์โบราณ ที่มีอายุหลายปี ตั้งแต่สมัยก่อสร้างวัด