• หน้าแรก
  • ทะเลน้อย ตระการตาดอกบัวแดง ชมนกน้ำ

ทะเลน้อย ตระการตาดอกบัวแดง ชมนกน้ำ

ทะเลน้อย ทะเลสาบน้ำจืด ตั้งอยู่ใน ตำบลนางตุง และ ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีคลองนางเรียมยาว 2 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทะเลน้อยกับทะเลสาบสงขลา จุดเด่นของทะเลน้อย คือ ล่องเรือชมทะเลบัวแดง สีแดงสดบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำในบริเวณที่มีบัวชนิดนี้ขึ้นอยู่ ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันความงามคู่ทะเลน้อยที่อยู่คู่กัน ดอกบัวจะเริ่มบานตั้งแต่กลางเดือน ก.พ – เม.ย. นอกจากนี้ระหว่างนั่งเรือชมดอกบัว ยังสามารถชมพืชพันธุ์น่าสนใจ รวมทั้งชมนกหลากสายพันธุ์  นกที่ทะเลน้อยจะมีให้ชมกว่า 287 นกน้ำมีทั้งนกที่ประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล 

 

 

เมื่อมาถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  สามารถติดต่อเรือนำเที่ยวที่ท่าเรือได้เลย มีเรือให้บริการหลายลำ  โดยเริ่มจากพาไปชมบึงบัว ดูนก และชมควายน้ำที่สะพานยาว ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง การล่องเรือควรมาแต่เช้า เพราะถ้าหลังเที่ยงไปแล้ว ดอกบัวจะหุบ การล่องเรือสัมผัสความงามของดอกบัวแดงชมนกน้ำ ดอกบัวจะบานอวดโฉมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ. – กลางเม.ย. ของทุกปี

  

 

ดอกบัวที่บึงบัวทะเลน้อย อยู่ใกล้ฝั่งมากไม่ต้องนั่งเรือไปไกลเหมือนบึงบัวที่อื่น  จากจุดขึ้นเรือไม่เกิน 2 นาที ก็มาถึงบึงบัวกลุ่มแรก ดอกบัวสีสดมาก

 

 

ท่ามกลางสีชมพูสดใสของดอกบัว เราจะได้เห็นนกน้ำชนิดต่างๆ เดินและบินโฉบไปมาตลอด  เจ้านกเหล่านี้ คือ อีกหนึ่งสีสันที่ทำให้การล่องเรือชมบึงบัวน่าตื่นเต้นขึ้น  ทะเลน้อย ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าเป็นสวรรค์ของนักดูนกซึ่งมีให้ชมกว่า 287 สายพันธุ์  ทั้งนกน้ำ นกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกอีโก้ นกระยาง นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกนางนวล นกกระเด็น นกกระสาแดง ฯลฯ ซึ่งนกจะชุกชุมมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน  แต่นกที่มักจะเห็นได้ง่ายแบบที่ไม่ต้องไปส่องไกล คือ  นกกระยางสีขาว

 

และนกที่เห็นได้ง่ายที่สุด อีกชนิดคือ นกอีโก้ง  เป็นนกประจำถิ่น  ลักษณะลำตัวเป็นสีน้ำเงินอมเชียว หน้าผากสีแดง เดินหาอาหารและแมลง จากรากไม้น้ำ

 

 

นกยางกรอกพันธุ์จีน นกตามป่าชายเลน พบได้ทุกภาคของประเทศไทย

 

นั่งเรือทัศนาบึงบัว อยากให้เรือจอดถ่ายรูปตรงจุดไหนก็บอกคนขับเรือได้ แต่ต้องบอกล่วงหน้าซักนิดจะได้ตรงจุดพอดี บึงบังทะเลน้อยถือว่าเป็นบึงบัวแดง ในอันดับต้นๆ ที่มีชื่อมานาน ปัจจุบันอาจไม่ได้มีบัวเยอะเหมือนในอดีต และไม่ได้กว้างใหญ่เป็นสิบไร่เหมือนทะเลบัวแดง อุดรธานี  ทะเลน้อยอาจแลดูเงียบเหงาไปตามกาลเวลาที่เมื่อกระแสใหม่มากระแสเก่าก็ต้องลดลงไป  แต่ยังยกให้ที่นี่เป็นอันดับ 1 ของทะเลบัวที่มีธรรมชาติหลากหลายมีอะไรให้ชม ให้เรามองแบบเพลินๆ ใครยังเคยมาต้องหาโอกาสมาให้ได้ซักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

 

ดอกบัวที่ทะเลน้อย ดอกใหญ่โต ดูเอิบอิ่ม สีสด อาจเป็นเพราะที่นี่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ทั้งระบบนิเวศ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ พรรณพืช โดยเฉพาะนก ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลน้อย ทำให้พื้นที่ “พรุควนขี้เสี้ยน” ของทะเลน้อยได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “แรมซาร์ ไซด์” (Ramsar Site) แห่งแรกในเมืองไทย

 

 

นอกจากดอกบัวแดงแล้วยังมีดอกบัวสีขาวบานแทรกด้วย

 

 

นกกระยางมีให้เห็นตลอดทาง เมื่อเรือขับผ่านเจ้านกน้อยก็พร้อมใจกันบิน เป็นภาพที่สวยงามมาก นกที่นี่ค่อนข้างคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยว คงชินเสียงเรือ เสียงคนซะแล้ว หากอยากมาเห็นนกเยอะต้องมาตอนเช้า เพราะนกออกมาหาอาหารในช่วงเช้า ถ้าสายประมาณ 10 โมงไปแล้ว ก็จะไม่ค่อยมีให้ชม

 

 

หลังจากเพลิดเพลินจากการชมบัวแล้ว เรือจะพาเราชมทัศนียมภาพของทะเลน้อย ระหว่างทางเราก็จะได้เห็นวีถีชีวิตแบบชาวบ้านที่ออกมาทอดแหหาปลาในช่วงเช้า รวมทั้งยังมีนกน้ำสายพันธุ์ต่างๆให้ได้ชม 

 

 

นอกจากล่องเรือชมนก  บึงบัวทะเลน้อยยังมีไฮไลต์ที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ควายน้ำ” อันที่จริงเป็นควายบ้านของชาวบ้าน หากแต่ควายน้ำเป็นควายเลี้ยงในพื้นที่ซึ่งมันสามารถปรับตัวไปตามแหล่งอาหารคือเมื่อน้ำในทะเลสาบทะเลน้อยลดต่ำไปจนถึงแห้งขอด มีทุ่งหญ้าควายจะขึ้นมาและ เล็มหญ้ากินบนบก แต่เมื่อยามหน้าน้ำทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูงเจ้าควายพวกนี้มันก็จะปรับตัว เปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัวใบบัว หรือสาหร่าย โดยพร้อมใจกันลงไปหากินภายในน้ำทำให้คนเรียกว่า “ควายน้ำ” การล่องเรือชมควายน้ำขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะ โดยในช่วงน้ำหลากประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. จะสามารถพบเห็นควายออกหากินในน้ำได้เป็นจำนวนมากกว่าช่วงน้ำน้อย ซึ่งน่าเสียดายที่วันนั้นไม่ได้เจอ

 

 

ล่องเรือมาถึง สะพานยาว  หรือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองพัทลุง เป็นสะพานที่สร้างเชื่อมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ บ้านไสกลิ้ง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และบ้านหัวป่า อ.ระโนด จ.สงขลา   มีความยาวกว่า 17 กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง โดยช่วงที่ 2 ที่สร้างเป็นสะพานยกระดับอยู่เหนือพื้นที่ทะเลน้อยมีความยาว 5.450 กิโลเมตร นับเป็นเป็นสะพานที่ยาวที่สุดของไทยในปัจจุบันนี้ 

 

 

เสน่ห์ของสะพานยาว นอกจากจะเป็นสะพานแสนยาวเชื่อม 2 จังหวัดแล้ว ยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ รวมถึงจุดชมนก ควายน้ำ รวมถึงในยามเย็นยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกด้วยค่ะ

 

 

หลังจากล่องเรือเรียบร้อยแล้ว มาเดินเล่นรอบสะพานไม้ของที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  ที่นี่มีที่พักของกรมอุทยานให้บริการหลายหลัง ถึงแม้จะเป็นบ้านไม้ธรรมดาตามสไตล์ของอุทยานฯ แต่บรรยากาศและวิวระดับวีไอพีเลยทีเดียว