• หน้าแรก
  • ปราสาทสัจธรรม ปราสาทไม้แห่งศรัทธา อลังการและงดงามที่สุด

ปราสาทสัจธรรม ปราสาทไม้แห่งศรัทธา อลังการและงดงามที่สุด

ความเชื่อ ความศรัทธามักก่อให้เกิดผลงานอัศจรรย์ได้เสมอ ปราสาทสัจธรรม ปราสาทไม้ ตั้งโดดเด่นริมทะเลเมืองพัทยา งดงามด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้ริเริ่มแนวความคิดในการสร้าง คือ คุณเล็ก วิริยะภัณฑ์ ผู้สร้างเมืองโบราณและพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัน เกือบ 40 ปี ปราสาทสัจธรรมได้ถูกดำเนินการก่อสร้างขึ้น แม้ว่าท่านจะไม่ได้อยู่ชื่นชมผลงานในวันที่ปราสาทสร้างเสร็จ แต่การสร้างปราสาทไม้ยังดำเนินต่อไปตามแนวคิดและจินตนาการที่คุณเล็กได้ตั้งใจไว้ ที่ต้องการให้  ปราสาทสัจธรรม เป็นสถาปัตยกรรมไม้ที่ใหญ่และงดงามที่สุด สามารถอวดสายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ

ปราสาทสัจธรรม เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของศาสนา ปรัชญา อารยธรรม วัฒนธรรมดีงามของชาวเอเชียตะวันออก ที่สะท้อนถึงจริยธรรม วัฒนธรรม หน้าที่ศีลธรรมในอดีตสู่รูปองค์เทพต่างๆ ตัวปราสาทก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหมด แม้แต่ตัวล็อคที่เอาไว้เชื่อมไม้แกะสลักแต่ละชิ้นก็ไม่ใช้ตะปู แต่ใช้การเข้าเดือยตอกสลัก ตอกลิ่ม และเข้าหางเหยี่ยวแบบไทย เป็นงานศิลป์จากช่างมากฝีมือสมัยโบราณ แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันในแทบทุกรายละเอียด

สถาปัตยกรรมต่างที่สร้างขึ้นแต่ละชิ้นล้วนมีความหมาย อย่างเช่น ยอดหลังคาพรหมสี่หน้า ที่เห็นโดดเด่นอยู่ด้านหน้าปราสาท สื่อถึงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของผู้ปกครอง ทั้ง พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ผู้บริหาร ผู้นำประเทศ และพระเจ้าแผ่นดินที่ตั้งอยู่บนพรหมวิหารธรรม 4 หรือแม้แต่ยอดปราสาทแต่ละยอด ไม่ได้เป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีหรือพญานาค แต่เป็นรูปแกะสลักองค์เทพและเทวดา

บันไดทางขึ้นสู่ภายในตัวปราสาท โดดเด่นด้วยงานแกะสลักที่มาจากไม้หลากชนิด ทั้ง ไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่  ไม้มะค่า

ปัจจุบัน ปราสาจสัจธรรม ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังคงสร้างและต่อเติมไปเรื่อยๆ มาหลายปี เนื่องด้วยตัวปราสาทเป็นไม้และอยู่ติดทะเล ทำให้โดนไอเค็มของน้ำทะเลกัดกร่อนชิ้นงานให้เสียหายอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้นนอกจากชิ้นงานที่จะต้องต่อเติมขึ้นมาใหม่แล้ว ยังต้องแก้ไขและบำรุงรักษาชิ้นงานเดิมด้วย ขณะที่เดินชมปราสาทไปจะเห็นทีมงานกำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม่น

เข้ามาภายในตัวปราสาทจะพบกับประติมากรรมไม้แกะสลัก วิจิตรพิสดารแทบทุกจุด  ใจกลางปราสาทจะเป็นห้องโถงใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีบุษบงสถูปไม้สง่างามสื่อถึงสัญลักษณ์แห่งการหลุดพ้น

นอกจากนี้ยังแบ่งออกเป็นห้องจตุรมุข 4 ห้อง ตามทิศ  เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ห้องนี้ถือเป็นห้องไฮไลท์ มีแสงส่องกระทบจากช่องหน้าต่างและประตู เข้ามาสู่บริเวณตรงกลางของห้อง ทำให้ดูขลังและมีความวิจิตรอลังการมาก งานแกะสลักเป็นเรื่องราวกำหนดโลกธาตุ ทั้ง 4 ที่สร้างสรรพสิ่งในทางโลกนี้ได้แก่ ลม ไฟ น้ำ ดิน ตามความเชื่อของศาสนาพรหม พุทธ ฮินดู

ตลอดเวลาที่เดินชมงานสถาปัตยกรรมภายในปราสาท มีลมทะเลพัดเข้ามาตลอด อากาศเย็นสบาย เดินถ่ายภาพพร้อมไปกับชมผลงานแล้วแอบขนลุก เป็นความรู้สึกทึ่งและตื่นเต้นที่ได้เห็นงานสวยๆ เช่นนี้

ส่วนห้องนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ พระมัญชุศรี พระอมิตาพุทธ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กวนอิม โป๊ยเซียนและเซียนต่างๆ ตามคติของชาวพุทธมหายาน ให้มนุษย์รู้จักการให้แบ่งปันความสุขโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เยี่ยงพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ ชอบงานแกะสลักของห้องนี้มากเป็นพิเศษ ดูงานแล้วค่อนข้างแกะสลักยากและมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากเลยทีเดียว

เดินชมไปจะมีแสงอาทิตยส่องมาแบบนี้แทบทุกห้อง ภายในตัวปราสาทใช้ไฟฟ้าน้อยมาก เน้นใช้แสงธรรมชาติมากกว่า จะมีใช้ส่องชิ้นงานเป็นจุดๆเท่านั้น ไมได้เปิดไฟสว่างทั้งหลัง

นอกจากเดินชมสถาปัตยกรรมที่งดงามภายในตัวปราสาทไม้ ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุกทั้ง นั่งช้างชมบรรยากาศรอบปราสาท ขณะที่นั่งอยู่บนหลังช้างนอกจากจะได้ชมรอบนอกตัวปราสาทแบบใกล้ชิด ยังได้เห็นวิวของทะเลพัทยาด้วย

รวมทั้งกิจกรรมล่องเรือโบราณชมวิว ชมบรรยากาศรอบปราสาท ที่มีความเงียบสงบเป็นธรรมชาติ นั่งเรือไปถ่ายภาพมาแล้วได้ฟีลราชนิกูลมาก

ก่อนกลับแวะมานั่งพักชมวิวของปราสาทสัจธรรมจากจุดชมวิว มองเห็นตัวปราสาทตั้งโดดเด่นแนบชิดกับทะเลแบบสวยงามมาก  บางคนอาจคิดว่าค่าเข้าชม 500 บาท ค่อนข้างสูง แต่ถ้าลองเข้ามาเดินชมสถาปัตกรรมภายในตัวปราสาทกันสักนิด ได้ชมงานแกะสลักที่อ่อนช้อยสวยงามทุกรายละเอียด ได้ทราบประวัติความยากลำบากในการสร้าง รวมทั้งการบำรุงรักษา แล้วจะรู้ว่า 500 บาท ของการได้ชมสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และหาชมไม่ได้จากที่ไหน ที่ ปราสาทสัจธรรม นั้นคุ้มเกินคุ้ม

ปราสาทสัจธรรม

เปิดให้บริการ :  ทุกวัน 08.00 น.-18.00 น.
ค่าเข้าชม :  คนไทยและต่างชาติ ผู้ใหญ่  500 บาท  เด็ก  250 บาท  กิจกรรมนั่งช้าง รอบละ 400 บาท นั่งได้ 2 คน  กิจกรรมนั่งเรือ ค่าบริการ 300 บาท/คน (นั่งได้ลำละ 4 คน)
โทร. 081 350 8709

เว็บไซต์ : www.sanctuaryoftruthmuseum.com